เปิดกลโกงมิจฉาชีพใช้แอปฯ ดูดเงิน สมาคมธนาคารไทย-ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัยออนไลน์

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดกลโกงมิจฉาชีพใช้แอปฯ ดูดเงิน สมาคมธนาคารไทย-ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัยออนไลน์

Date Time: 17 ก.พ. 2566 06:40 น.

Summary

  • สมาคมธนาคารไทย เผยข้อมูลกลโกงมิจฉาชีพใช้แอปฯดูดเงินสร้างความเสียหายต่อประชาชน แนะวิธีสังเกตและวิธีการตรวจสอบความผิดปกติ ด้านตำรวจสอบสวนกลางสรุป 7 ช่องทางมิจฉาชีพส่งลิงก์หลอกดูดเงิน

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

สมาคมธนาคารไทย เผยข้อมูลกลโกงมิจฉาชีพใช้แอปฯดูดเงินสร้างความเสียหายต่อประชาชน แนะวิธีสังเกตและวิธีการตรวจสอบความผิดปกติ ด้านตำรวจสอบสวนกลางสรุป 7 ช่องทางมิจฉาชีพส่งลิงก์หลอกดูดเงิน

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนแนบเนียนขึ้น และมีเทคนิคที่หลากหลาย ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สมาคมธนาคารไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเพื่อช่วยประชาชน โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ร่วมกันดำเนินการดังนี้

1.ตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร ควบคุมและจัดการชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม

2.ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย

และ 3. หารือธนาคารสมาชิกพัฒนาระบบความปลอดภัยแชร์เทคนิคและแนวทางป้องกันภัยร่วมกัน นอกจากนี้ หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทำได้รวดเร็วขึ้น ระงับความเสียหายได้อย่างทันท่วงที สามารถบล็อกบัญชีต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องรอแจ้งความ

ด้านนายชัชวัฒน์ อัศวรักวงศ์ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) กล่าวว่า การหลอกลวงจากแอปฯ ดูดเงิน ส่วนใหญ่มี 3 รูปแบบ ดังนี้

1.หลอกล่อด้วยรางวัลและความผิดปกติของบัญชีและภาษี โดยคอลเซ็นเตอร์โทร.มาหลอกด้วยสถานการณ์ที่
ทำให้กังวล โดยส่ง SMS ใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายหน่วยงานต่างๆ และโซเชียลมีเดียหลอกให้เงินรางวัลและเงินกู้ หรือโน้มน้าวชวนคุยหาคู่ และให้เพิ่ม (Add) บัญชีไลน์ปลอมของมิจฉาชีพ

2. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม หลอกขอข้อมูล และให้ทำตามขั้นตอนเพื่อติดตั้งแอปปลอม (ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) เพื่อจะได้ควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้ และ 3.ควบคุมมือถือของเหยื่อและใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้แอปปลอมเชื่อมต่อไปยังเครื่องของมิจฉาชีพ เพื่อเข้าควบคุมและสั่งการมือถือของเหยื่อ เพื่อโอนเงิน และขโมยข้อมูลต่างๆ

“ผู้ที่หลงกลตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ให้รีบดำเนินการปิดเครื่องทันที ด้วยวิธีกด Force-Reset คือการกดปุ่ม Power และปุ่มลดเสียง พร้อมกันค้างไว้ 10-20 วินาที แต่ถ้าทำวิธีนี้ไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ด ปิด Wi-Fi หลังจากนั้นให้ติดต่อธนาคารและแจ้งความทันที”

ในส่วนของตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้สรุป 7 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ส่งลิงก์หลอกดูดเงิน คือ

1.SMS ปลอม มิจฉาชีพจะส่งลิงก์โดยมักอ้างว่าคุณได้รับสินเชื่อ คุณได้รับรางวัลจากกิจกรรม หรือหลอกลงทะเบียนรับสิทธิ ซึ่งจะหลอกให้กรอกข้อมูลและติดตั้งไฟล์ที่ไม่ประสงค์ไว้,

2. ไลน์ปลอม มิจฉาชีพจะสร้าง LINE Official Account ปลอมขึ้นมา ใช้รูปโปรไฟล์ให้เหมือนกับของจริง อ้างเป็นตำรวจ ธนาคาร หรือหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน หลอกให้เหยื่อโอนเงิน หรือหลอกขอข้อมูล และให้กดลิงก์สูญเงินไปจำนวนมาก

3. อีเมลปลอม โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างชื่อบริษัท แจ้งให้ชำระใบแจ้งหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระเงิน และมีลิงก์ไปเว็บไซต์ปลอม หลอกให้กรอกข้อมูล และทำรายการชำระเงิน

4. เว็บไซต์ปลอมมักจะแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน หลอกให้ชำระค่าบริการต่างๆ และมักหลอกกดลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จนเงินหายหมดบัญชี

5.ลิงก์ใต้คอมเมนต์ หรือไวรัสโฮคส์ (Virus hoax) เป็นลิงก์ข่าว หรือคลิปวิดีโอ ที่สร้างชื่อหน้าเว็บลิงก์เหมือนสื่อหลัก เพื่อหลอกให้คิดว่าเป็นการแชร์ลิงก์ที่มีต้นตอมาจากสื่อหลักมีความน่าเชื่อถือ

6.โฆษณาบนสื่อโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ ซึ่งมีบางเว็บที่ไม่พึงประสงค์ใช้ในการหลอกล่อโฆษณาการพนัน และยิงแจ้งเตือนโฆษณา เพื่อหลอกให้คนหลงเชื่อกดลิงก์ รวมถึงลิงก์ที่ติดฝังมัลแวร์

และ 7.แอปพลิเคชันที่ไม่ทราบแหล่งที่มา จะให้ดาวน์โหลดผ่านลิงก์ที่ส่งให้ ไม่ได้ดาวน์โหลดผ่านสโตร์ที่มีการตรวจสอบ เสี่ยงที่จะถูกหลอกติดตั้งแอปปลอม หรือแอปเลียนแบบกับแอปจริงให้คนหลงเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นแอปเงินกู้ แอปพนันและแอปหาคู่เถื่อน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ