เดือนหน้าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เดือนหน้าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย

Date Time: 26 ก.ค. 2565 06:38 น.

Summary

  • ช่วงนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณค่อนข้างถี่ แบงก์ชาติกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (ในการประชุม กนง.วันที่ 10 สิงหาคม) เพื่อดูแลเงินเฟ้อ

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ช่วงนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณค่อนข้างถี่ แบงก์ชาติกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (ในการประชุม กนง.วันที่ 10 สิงหาคม) เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่สูงในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวล่วงหน้า แต่การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติไทย จะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรงเหมือนสหรัฐฯ แม้ว่า เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนจะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี แต่ก็ยังต่ำกว่า สหรัฐฯ และ อังกฤษ ที่เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนพุ่งขึ้นไปสูงถึง 9.1% และ 9.4% สูงสุดในรอบ 40 ปี โดยเฉพาะอังกฤษคาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นไปถึง 11% ปลายปีนี้ คนไทยที่ไปซื้อบ้านอยู่ที่อังกฤษเจอค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน

การที่ แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าประเทศอื่นๆ ก็เพราะ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงถึง 12% ของจีดีพี จึงต้องผสมผสานนโยบายการคลังและการเงินอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ และระบบสถาบันการเงินยังทำงานได้ตามปกติ

ดร.เศรษฐพุฒิ เปิดเผยในการพบกับสื่อมวลชนที่แบงก์ชาติว่า เป้าหมายสำคัญของแบงก์ชาติ คือ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องแบบไม่สะดุด สิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน เพราะ เงินเฟ้อที่สูงจะส่งผลกระทบต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางผู้มีรายได้น้อย ผู้มีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดอาหารและพลังงานมากกว่า 55% ของรายได้ ในขณะที่ คนมีรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายหมวดนี้เพียง 42% และหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงต่อเนื่องนาน จะทำให้คนคิดว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ยากที่จะปรับให้ลดลง เพราะ ผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาสินค้า และลูกจ้างอาจขอขึ้นค่าจ้างต่อเนื่อง

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ อธิบายว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่า นโยบายการเงินจะดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นต่อไปในระยะข้างหน้า ในทางกลับกัน หากเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นไปอีก แต่เรายังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินที่แท้จริงลดลงไปอีก กลายเป็นว่า เราไปเหยียบคันเร่งให้เศรษฐกิจ และนโยบายการเงินผ่อนคลายขึ้น

(ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ สหรัฐฯ ที่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ออกมาสารภาพว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯคาดการณ์ผิดพลาด พิมพ์เงินเพิ่ม กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้จีดีพีพุ่งพรวด แต่เงินเฟ้อกลับพุ่งเร็วกว่าจนทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ผลคือทำให้จีดีพีสหรัฐฯติดลบมา 2 ไตรมาสติดต่อกัน จนเข้าสู่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างที่เห็นในปัจจุบัน)

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกว่า การขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด ควรทำแต่เนิ่นๆเมื่อเห็นสัญญาณ เพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา หากช้าเกินไปอาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด แล้วต้องมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยในภายหลัง (อย่างสหรัฐฯ) ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและประชาชนมากขึ้น ธปท.ได้ประเมินแล้วว่าคุ้ม ผู้ฝากเงินจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้บางประเภทที่ได้รับดอกเบี้ยลอยตัว แม้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนน้อยกว่าเงินเฟ้อ จากการประเมินของ ธปท.พบว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ครัวเรือนมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ 3.6% ค่าใช้จ่ายจากเงินเฟ้อจะสูงกว่าการขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 เท่า

เดือนมิถุนายน เงินเฟ้อไทยพุ่งขึ้นไป 7.66% ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นถึง 14 เท่า

ลูกหนี้เก่า ที่มีอยู่ในระบบ ดร.เศรษฐพุฒิ เปิดเผยว่า สินเชื่อรายย่อยราว 60% ได้ดอกเบี้ยคงที่ (Fixed) อยู่แล้ว เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ส่วน สินเชื่อบ้าน ส่วนใหญ่ลอยตัวและกำหนดค่างวดไว้ล่วงหน้า กลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ ลูกหนี้ธุรกิจเกือบทั้งหมด ก็เป็นดอกเบี้ยลอยตัว มีเพียง “ลูกหนี้ใหม่” ที่จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ผมฟังโดยสรุปแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้มีผลกระทบน้อยมาก เมื่อเทียบกับ “เงินเฟ้อ” ที่พุ่งขึ้นไปถึง 7.66%.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ