แนะเพิ่มรายได้หนุนเศรษฐกิจไทยโต ธปท.ห่วงพิษหนี้ครัวเรือนทำไทยระส่ำ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แนะเพิ่มรายได้หนุนเศรษฐกิจไทยโต ธปท.ห่วงพิษหนี้ครัวเรือนทำไทยระส่ำ

Date Time: 19 เม.ย. 2565 08:04 น.

Summary

  • ธปท.ยืนยันดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย หวังคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ยอมรับกังวลหนี้ครัวเรือน หนี้เสียพุ่งต่อเนื่อง เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำสะดุดไปบ้าง

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ธปท.ยืนยันดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย หวังคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ยอมรับกังวลหนี้ครัวเรือน หนี้เสียพุ่งต่อเนื่อง เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำสะดุดไปบ้าง คาดปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 3.4% ส่งออกขยายตัว 7% คนว่างงาน เสมือนว่างงาน 2.9 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Analyst Meeting เพื่อชี้แจงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ยอมรับว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่ ธปท.กังวล และได้หารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และช่วงที่ผ่านมาเหตุผล หนึ่งที่หนี้ครัวเรือนของคนไทยสูงขึ้น มาจากรายได้ และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลดลงจากโควิด-19 สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ และชะลอการเกิดหนี้เอ็นพีแอลสูงขึ้นคือ การทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวได้โดยไม่สะดุด ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นการผ่อนคลาย ขณะที่นโยบายการคลังเป็นพระเอกช่วยให้ประชาชนมีรายได้ต่อเนื่อง

การดำเนินนโยบายการเงินของไทย ยังคงมองเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก โดยส่วนต่างอัตรา ดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯที่สูงขึ้น ด้วยพื้นฐาน เศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยที่ยังมีความเข้มแข็ง ทำให้ปัจจุบันมีส่วนต่างที่ค่อนข้างมาก แต่มีผลค่อนข้างจำกัด ต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่พบว่าเป็นการไหลออกไปมาก หรือมีการไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ขณะที่ เงินบาทตั้งแต่ช่วงต้นปียังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก จึงไม่เป็นประเด็นที่กังวลมากนัก

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย และเงินเฟ้อของ ธปท.ในการประชุม กนง.ล่าสุด ได้ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 65 เหลือ 3.4% และปี 66 ลดลงเหลือ 4.7% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อ ในปี 65 และ 66 เพิ่มเป็น 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ การปรับการขยายตัวลดลงครั้งนี้ เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยชะลอตัวลง และมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผ่านมายังต้นทุนสินค้า ค่าครองชีพ และกำลังซื้อในประเทศ แต่ยังมองว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7%
ทั้งนี้ โอมิครอนไม่ได้กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ มากเท่ากับสายพันธุ์เดลตา ทำให้เชื่อว่าภาครัฐจะไม่ออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมาก และมีการผ่อนคลายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะอยู่ที่ 5.6 ล้านคน ปีหน้าอยู่ที่ 19 ล้านคน ขณะที่คนว่างงาน และเสมือนว่างงานอยู่ที่ 2.9 ล้านคน

“เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยต้องติดตาม 1.ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต อาจรุนแรงกว่าที่คาด 2.ค่าครองชีพที่อาจสูงขึ้นมากจนกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน 3.การระบาดของโอมิครอน แต่ยังพอจะมีปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่ากรณีฐาน คือ การใช้จ่ายของภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปขยายตัวได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในปีหน้า”

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติม อาทิ ผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของคนไทย ทั้งการโอนเงินออกนอกประเทศ และการชำระระหว่างกันในประเทศ โดยอนุญาตให้โอนไปให้กู้ยืมแก่กิจการนอกเครือในต่างประเทศ และไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศไม่จำกัดจำนวน จากเดิมมีกำหนดวงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ