หากเปรียบเป็นคนที่มีอายุ 80 ปี แน่นอนว่าจะต้องเป็นคนที่พร้อมด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ผ่านร้อนผ่านหนาว จุดสูงสุด ต่ำที่สุด คำชื่นชมและคำติฉินนินทามาไม่น้อย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เป็นเช่นนั้น ครบรอบ 80 ปีในปีนี้ ธปท.จัดกิจกรรมโหมโรงด้วย งาน “เหลียวหลัง แลหน้ากับผู้ว่าการ ธปท.” ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจปัจจุบันและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคต แชร์ประสบการณ์จาก 6 อดีตผู้ว่าการ (ตามลำดับการดำรงตำแหน่ง) เริ่มจาก ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.ธาริษา วัฒนเกส ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ
บันทึกบทเรียนตั้งแต่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2541 วิกฤตการณ์การเมืองหลายครั้งหลายหน วิกฤติซับไพรม์ ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงสุดกว่า 147 เหรียญฯต่อบาร์เรล จนมาถึงวิกฤติโควิด–19 ใน ปัจจุบัน (สามารถฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/cd6v3BxfEQ/ )
จากงานเสวนา คำที่ได้ยินบ่อยจากทุกผู้ว่าการ คือ การทำหน้าที่เป็น “กองหลัง” ที่ต้องดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การรักษาความดีงามของ ธปท.ที่สั่งสมมา และการรักษาความเชื่อมั่นของประชาชน
ขณะที่ประสบการณ์ที่เหมือนจะเจอตรงกัน แต่แตกต่างกันไปในแต่ละบริบท ใครไม่เจอถือว่า “มาไม่ถึง” น่าจะเป็น “การถูกกดดันให้ปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย ความไม่พอใจของคนหลายๆ กลุ่มในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท การรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงปัญหา “ความเป็นอิสระ” ของ ธปท.”
ดังนั้น “การบ้าน” ที่ถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่กำลังทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงิน ดอกเบี้ย ค่าเงินบาท ระบบสถาบันการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และความพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เริ่มจากคำกล่าวของ อดีตผู้ว่าการชัยวัฒน์ “ธปท.จะต้องเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้อง ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และหากมีความจำเป็นชัดเจนว่า เราต้องทำนโยบายที่ยาก นโยบายที่เข้มงวดที่คนอื่นเขาไม่ชอบ แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เราต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเราเป็นด่านสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน”
ขณะที่ความเป็นอิสระของ ธปท.นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ฝากจุดยืนไว้ว่า “ธปท.จะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องเป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจและนักการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร ต้องฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่น นโยบายการเงินต้องประสานกับการคลังเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ”
ม.ร.ว.จัตุมงคล ฝากแนวคิดให้ “ธปท.เชิญผู้มีความรู้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ช่วยประเทศชาติได้มาก และฝากข้อคิดในการทำงานในโลกวันนี้ว่า คนที่ชนะคือคนที่ชนะใจประชาชน”
สำหรับการบ้านของ ดร.ธาริษา ไม่ต้องการให้มุ่งเน้นแค่ระบบการเงิน โดยระบุว่า “แม้บทบาทของ ธปท.โดยหลักคือการดูแลนโยบายการเงิน และเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ที่สำคัญคือ การพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชนมากที่สุด ธปท.จึงต้องเป็นตัวช่วยให้เครื่องจักรเศรษฐกิจทำงานได้อย่างปกติ เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น”
ส่วนคำแนะนำของ ดร.ประสาร คือ “ต้องสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้นำต้องมองไปข้างหน้า รู้เท่าทัน และปรับตัวเองได้ก่อนคนอื่นจะเปลี่ยนเรา”
ขณะที่ ดร.วิรไท มองว่า “ในเวลาที่เกิดวิกฤตินั้น ธปท.ต้องกล้าเข้าไปแก้ไขสิ่งที่บิดเบือนและจะเกิดปัญหาตามมา แม้บางเรื่องจะไม่ได้อยู่ในขอบเขตของ ธปท.โดยตรง และการคงความน่าเชื่อถือของ ธปท.ได้ คือ การที่เรายื่นมือไปช่วยแก้ปัญหาประชาชน”
ตบท้ายด้วย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ที่กล่าวปิดงานเสวนาว่า “ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนเร็ว...เราต้องมองไปข้างหน้าและ “ปรับ” องค์กรของเรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง...เพื่อให้ ธปท.สามารถยืนหยัดทำตามหน้าที่และพันธกิจในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับคนไทย
เช่นเดียวกับที่เราได้ทำตลอด 80 ปี...และการปรับนี้ทำไปเพื่อให้เรายังคงรักษา “แก่น” ที่จะนำพาระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศผ่านพ้นความท้าทายต่างๆที่เรากำลังเจอ และสร้างรากฐานระบบเศรษฐกิจการเงินประเทศให้เข้มแข็ง”
แค่โหมโรงก็ร้อนแรงแล้ว แต่ยังไม่จบเท่านี้ ล่าสุด ธปท.ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถมี “นโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองได้” โดยเปิดแข่งขัน Policy Hackathon ออกแบบนโยบายใน 3 ด้าน คือ การเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาหนี้ ทั้งการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ การแก้ไขช่องโหว่ที่มีอยู่ในขณะนี้ การบริหารความเสี่ยง และการใช้งานจริง โดยจะมีเงินรางวัลให้ผู้ชนะรวมกว่า 3 แสนบาท
เปิดรับสมัครตั้งแต่ 18 เม.ย.-16 พ.ค.ใครอยากออกแบบหรือมีนโยบายเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง และอาจจะถูกนำไปใช้งานจริงไม่ควรพลาด นอกจากนั้น ธปท.ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ในโอกาสครบ 80 ปีทยอยออกมาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งปีขอให้รอติดตาม “ช็อตเด็ดๆ” กันได้ในตอนต่อไป.
ประอร นพคุณ