วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่อง ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ธนาคารรูปแบบใหม่ที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพิ่งแถลงข่าวไปเมื่อสองวันก่อนนะครับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่าง 1-28 ก.พ.นี้ เพื่อจะออกแบบภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทย โดยการจัดตั้ง ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ขึ้นมาให้บริการประชาชน โดยจะให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ทั้ง ธนาคารไร้สาขา และ ธนาคารแบบเก่าดั้งเดิม
Virtual Bank แปลตามตัวก็คือ ธนาคารเสมือน ก็คือ Digital Bank หรือ ธนาคารดิจิทัล นั่นเอง กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกยุค Metaverse ที่กำลังขยายตัวกันอย่างคึกคักทั่วโลก
ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวว่า การเข้ามาของดิจิทัลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคการเงินไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก บัญชีอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้ง เพิ่มจาก 36 ล้านบัญชี เป็น 121 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และปริมาณการโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้ง เพิ่มจาก 800 ล้านรายการ เป็น 14,400 ล้านรายการเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็ปิดสาขาไปถึง 1,400 แห่ง
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สินเชื่อรายย่อยของนอนแบงก์มีการเติบโตถึง 40% เทียบกับ ธนาคารดั้งเดิมที่เติบโตเพียง 24% และ สินเชื่อ
ทั่วโลกที่ปล่อยโดยฟินเทคมีการเติบโตถึง 500% เช่น อาลีบาบา เทนเซ้นต์ มีการเติบโตถึง 4,000% ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของไทย ทำให้ ธปท. ต้องเตรียมเปิด Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา ภายใต้กำกับของ ธปท. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาไทยก็ไม่ได้ล้าหลังเรื่องดิจิทัล คนไทยใช้โมบายแบงกิ้งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก โอนเงินผ่านอีเพย์เมนต์สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก นำคิวอาร์โค้ดมาใช้เป็นประเทศแรกในโลก เชื่อมโยงระบบชำระเงินข้ามประเทศแบบทันทีเป็นคู่แรกของโลก และ พัฒนาเงินสกุลดิจิทัลเป็นอันดับ 1 ของโลก
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาศ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า Virtual Bank น่าจะตอบโจทย์ของประชาชน แต่การเปิดรับฟังความคิดเห็นรูปแบบ Virtual Bank เพื่อจะดูว่า มีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร จากนั้น จะมีหลักเกณฑ์ตามมาในครึ่งปีแรกนี้ และ ปรับเป็นเกณฑ์จริงให้ผู้ที่จะทำ Virtual Bank มาขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เชื่อว่าธนาคารในรูปแบบใหม่จะแข่งขันกันมากขึ้นในเรื่องนวัตกรรม
ส่วน ธนาคารดั้งเดิม เชื่อว่าไม่มีใครอยู่เฉย ธนาคารปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และ ธปท.ก็เปิดโอกาสให้ธนาคารดั้งเดิมที่อยากทำ Virtual Bank สามารถทำ Virtual Bank ควบคู่ไปด้วยได้ จากเดิมที่ไม่อนุญาต เพื่อให้เกิดการแข่งขันให้คนไทยได้ประโยชน์
งานนี้สนุกแน่นอนครับ ถ้าดูตามไทม์ไลน์ที่ ดร.รุ่ง แถลง คือ ออกหลักเกณฑ์การขออนุญาตในครึ่งปีแรก 2565 แล้วปรับเป็นหลักเกณฑ์จริงให้ผู้ที่สนใจและธนาคารดั้งเดิมขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ได้ ผมเชื่อว่า ธนาคารแบบดั้งเดิมทุกธนาคารมีความพร้อม โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีและเงินทุนพร้อม จะได้เปรียบทั้งเงินทุน และได้เปรียบด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอยู่มากมาย เพียงแต่ขยายลงไปสู่ Virtual Bank เพื่อให้บริการไปถึงรายย่อยเท่านั้นเอง แต่ Virtual Bank รายใหม่ ที่เป็น สตาร์ตอัพ หรือ ฟินเทค อาจจะลำบาก เพราะต้องระดมทั้งเงินทุน และต้องสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆขึ้นมา ในต่างประเทศ Virtual Bank ส่วนใหญ่ก็ขาดทุน วันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านไปดู Digital Bank ระดับท็อป 3 ของโลก ใหญ่ขนาดไหน
อันดับ 1 NUBANK ตั้งอยู่เซาเปาโล บราซิล มีเงินทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ ราว 49,500 ล้านบาท มีลูกค้า 35 ล้านยูสเซอร์ อันดับ 2 CHIME ตั้งอยู่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ มีเงินทุน 1,300 ล้านดอลลาร์ ราว 42,900 ล้านบาท มีลูกค้า 12 ล้านยูสเซอร์ อันดับ 3 SOFI ตั้งอยู่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ มีเงินทุน 300 ล้านดอลลาร์ มีลูกค้า 7.5 ล้านยูสเซอร์ ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการลูกค้ารายย่อยที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคารแบบดั้งเดิม.
“ลม เปลี่ยนทิศ”