โค้งสุดท้ายลดหย่อนภาษีปี 2564 ได้เงินเดือน ได้โบนัส อย่าลืมลงทุนในกองทุน SSF และกองทุน RMF ออมไปเรื่อยๆ ได้กำไร ได้เงินปันผลไม่รู้ตัว
มนุษย์เงินเดือน และผู้มีรายได้ที่กำลังจะต้องยื่นเสียภาษีในปี 2564 ในช่วงต้นปี 2565 นั้นเหลืออีกไม่กี่วันก็จะหมดปีแล้ว หลายคนกำลังมองหาวิธีลดหย่อนภาษีช่วงโค้งสุดท้าย เพราะเพิ่งจะได้รับเงินเดือน หรือโบนัส มาหมาดๆ แน่นอนว่าการลงทุนในสองคู่หูประหยัดภาษี กองทุน SSF และกองทุน RMF นั้นน่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ใครหลายคนอยากให้เงินงอกเงยไปพร้อมกับการลดหย่อนภาษี
"ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ขอนำเทคนิดการลงทุนกองทุน SSF และกองทุน RMF จาก เสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการฝ่ายค้าตราสารการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ที่ได้เคยแนะนำไว้มาฝากกันดังนี้
- ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี ควรเลือกลงทุนในกองทุน SSF ให้เต็มที่ก่อน เพราะใช้ระยะเวลาในการลงทุนไม่ยาวนัก หรือประมาณ 10 ปี ที่สำคัญไม่กำหนดขั้นต่ำในการลงทุน
- กองทุน SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ซื้อปีไหน ลดหย่อนปีนั้น, ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมกับกองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD, ประกันบำนาญ, กบข. กอช. เป็นต้น ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท
- แต่ถ้าอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ควรเลือกลงทุนในกองทุน RMF เนื่องจากจะขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุ 55 ปี และไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน แต่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี เมื่อครบเงื่อนไขสามารถขายได้ทั้งหมดที่ลงทุนมา ทำให้ถือลงทุนน้อยกว่า 10 ปี
- การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากผู้ลงทุนจะต้องจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับช่วงอายุแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงด้วย เช่น หากเป็นคนรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ก็ควรเลือก กองทุนผสมที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาว
หรือหากต้องการวางแผนเกษียณ ผ่านการลงทุนระยะยาว แต่ไม่มีเวลาดูแลพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุ ก็ควรเลือกลงทุน กองทุนประเภท Target Date Fund ที่เน้นลงทุนในระยะยาว เพื่อการเกษียณอายุ
ธีมลงทุนกองทุน RMF กองทุน SSF ที่น่าสนใจ
ส่วนการจัดพอร์ตกองทุน SSF และกองทุน RMF นั้นต้องเน้นเป็นการลงทุนแบบระยะยาว โดยนายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB CIO
1. ธุรกิจสุขภาพ หรือ Healthcare เป็นเทรนด์ที่เหมาะกับการถือลงทุนในระยะยาว เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลคิดเป็นสัดส่วนที่สูงต่อ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
ขณะที่โครงสร้างประชากรเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจากการที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีเมื่อเทียบกับอัตราการเกิด ซึ่งการลงทุนในหุ้นของบริษัทด้านธุรกิจสุขภาพทั่วโลก เป็นโอกาสการกระจายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมย่อยที่มีความสำคัญ
เช่น บริษัทยา เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ประกันสุขภาพ หรือ อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งการลงทุนในหุ้นบริษัทธุรกิจสุขภาพโลก มองเป็นการลงทุนได้ทั้งในสไตล์หุ้น defensive ที่มีความผันผวนไม่มาก
รวมถึงสไตล์หุ้น growth ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงได้อย่างสมดุล ซึ่งเหมาะกับแผนการลงทุนระยะยาว เนื่องจากธุรกิจสุขภาพถือเป็นธุรกิจหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จะอยู่คู่กับมนุษย์ทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
2. ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน หรือ Fintech วิวัฒนาการของภาคเทคโนโลยีทางการเงินมีความคืบหน้าต่อเนื่องและ Fintech ยังมีแนวโน้มเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในระยะยาว เนื่องจากกระแส Digital Transformation ทั่วโลกเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด ทำให้ปัจจุบันกระแส Fintech เป็นเรื่องปกติในทุกภาคส่วน สำหรับหุ้นธุรกิจ Fintech ที่น่าสนใจ
ได้แก่ บริษัทที่ทำธุรกิจในเรื่องของ E-Commerce, Social Platform, Digital Payment, Digital Lending, Cloud Computing รวมไปถึงธุรกิจด้าน Wealth Management และ Robo Advisory และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน Cryptocurrency และเทคโนโลยี Blockchain
โดยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากจากคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นธุรกิจการเงินแห่งอนาคตและถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ล้วนเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาด Fintech ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง ซึ่งสอดคล้องกับแผนการลงทุนระยะยาวเช่นกัน
3. แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุดในโลก และยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แม้ในปีนี้ราคาหุ้นจีนปรับลดลงมามากเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศอื่น เนื่องจากแรงกดดันจากการคุมเข้มด้านกฎระเบียบต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่
รวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจและธุรกิจตามแนวทางความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) แม้ความกังวลด้านกฎระเบียบยังอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นจีนในช่วงสั้น แต่จากแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีนยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจจีนอีกมาก
ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่สามารถพลิกโฉมเศรษฐกิจและมีความเป็นเลิศในวิทยาการด้านต่างๆ ทั้งสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และมีเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันได้กับชาติมหาอำนาจตะวันตก และด้วยขนาดประชากรจีนที่มีมากราว 1.4 พันล้านคน ทำให้ยังมีกำลังซื้ออีกมหาศาลและเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของโลก
โดย SCB CIO จึงมองเห็นโอกาสการลงทุนในหุ้นจีน A-Shares ที่ได้อานิสงส์จากการบริโภคภายในประเทศที่ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทางการจีนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีจีนที่ปีนี้ ราคาหุ้นปรับฐานลงมามากจากความกังวลและการคุมเข้มด้านกฎระเบียบ ทำให้ราคาหุ้นเริ่มถูกและมี valuation ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว.