ล้วงกระเป๋าออนไลน์ ตามยังไงให้ได้เงินคืน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ล้วงกระเป๋าออนไลน์ ตามยังไงให้ได้เงินคืน

Date Time: 26 ต.ค. 2564 06:15 น.

Summary

  • ยุคเศรษฐกิจตกตํ่าจากโรคระบาด ซํ้าหนัก “มิจฉาชีพอาละวาดก่อเหตุดูดเงินในบัญชีฝากธนาคารของชาวบ้าน” สวมรอยทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ทีละเล็กทีละน้อยกว่าจะรู้ตัว “เงินเก็บออม” เพื่อสร้างอนาคตก็หายหมด

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ยุคเศรษฐกิจ ตกตํ่าจากโรคระบาด ซํ้าหนัก “มิจฉาชีพอาละวาดก่อเหตุดูดเงินในบัญชีฝากธนาคารของชาวบ้าน” สวมรอยทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ทีละเล็กทีละน้อยกว่าจะรู้ตัว “เงินเก็บออม” เพื่อสร้างอนาคตก็หายหมดเกลี้ยงแล้ว

ใช้กลโกงจาก “บัตรเครดิต บัตรเดบิต” ที่ผูกบัญชีธนาคารเข้าแอป พลิเคชันออนไลน์แล้วข้อมูลหลุดไปถึงคนร้าย หรือส่ง SMS ลิงก์เข้ามือถือ ผู้เสียหายให้กรอกเอาข้อมูล โดยเฉพาะการใช้บัตรชำระค่าสินค้าบริการในห้าง เติมน้ำมัน มักถูกเก็บข้อมูลเลขหน้าบัตร 16 หลัก เลข CVC หลังบัตร 3 ตัวแล้วขายในตลาดมืด

นับเป็นความเสียหายทางระบบการเงินออนไลน์ที่มี “ผู้ตกเป็นเหยื่อหลายหมื่นคน มูลค่าความเสียหายกว่าร้อยล้านบาท” กลายเป็นข่าวใหญ่ “ตำรวจไซเบอร์ และสมาคมธนาคารไทย” ต้องเร่งหาเบาะแสเส้นทางการเงินติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมออนไลน์อีกครั้ง

ท่ามกลาง “ธนาคารไทย” พยายามผลักดันให้ลูกค้าหันมาทำธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์ เพื่อช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุน แล้วมัก “ยืนยันมีความปลอดภัยเสมอ” กลายเป็นประเด็นให้ลูกค้าต่างวิตกกังวลแล้วตั้งคำถาม...ฝากเงินในธนาคาร หรือทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์มีระบบความปลอดภัยอีกหรือไม่

แต่เรื่องเงินในบัญชีหายนี้ก็มีกฎหมาย “คุ้มครองเป็นหลักประกันให้ผู้ฝากเงินกับธนาคาร” ไว้อยู่หลายฉบับเกี่ยวกับ “ใครจะรับผิดชอบ หรือผู้ใดเป็นผู้เสียหาย” เพื่อปกป้องประชาชน และสถาบันการเงินบริหารจัดการได้ตามวิชาชีพธุรกิจนี้

คมเพชญ จันปุ่ม หรือ “ทนายอ๊อดประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน แนะนำว่า ต้องยอมรับคนเราทำงานเหน็ดเหนื่อย “เก็บเงินเก็บทอง” เพื่อความมั่นคงให้ชีวิตในอนาคต ดังนั้น “การฝากเงินในธนาคาร” เป็นหนทางปลอดภัยที่สุดแล้ววันดีคืนดี “เงินในบัญชีกลับหายหมด” ใครจะรับผิดชอบนี้

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ม.657 ให้ไว้ว่า “การฝากเงินกับธนาคาร” เป็นสัญญาระหว่าง “ผู้ฝากกับผู้รับฝาก” ซึ่ง ผู้รับฝากได้ตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินแล้ว “จะคืนให้กับผู้ฝาก” ส่วนใหญ่มักเป็น “ลักษณะการฝากทรัพย์สิ้นเปลือง” ที่มีค่าต่างตอบแทนบำเหน็จ ค่าดอกเบี้ย หรือค่ารับฝาก

อันได้มาจาก “ผู้รับฝากนำเงินฝากออกปล่อยกู้เก็บผลดอกเบี้ย” ก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการส่งเสริมทรัพย์สินดังวิญญูชนจะพึงทำกัน ทั้งใช้ฝีมือพิเศษดูแลบัญชีเงินผู้ฝากตาม ป.พ.พ.ม.659 วรรคสอง

แต่ถ้าเมื่อ “ทรัพย์สินของผู้ฝากสูญหายไป” ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด “ธนาคาร” ต้องเป็นผู้รับผิดชอบคืนเงินต่อเจ้าของบัญชีตามสัญญาฝากทรัพย์ให้ครบตามจำนวนนั้นด้วย

ดั่งความใน ป.พ.พ.ม.672 ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝากแต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน วรรคสองผู้รับฝากเอาเงินฝากออกใช้ก็ได้ แต่จำต้องคืนเงินให้ครบจำนวน แม้ว่าเงินฝากจะได้สูญหายด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตามก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น

เช่น กรณีล่าสุด “มิจฉาชีพขโมยข้อมูลบัตรเดบิต และบัตรเครดิต ดูดเงินบัญชี” ด้วยการใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ “ผู้ถือบัตร” ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินต้องแจ้งปฏิเสธการเรียกเก็บที่หักบัญชีตามบัตรเครดิตแล้วธนาคารก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

เมื่อปรากฏเป็นไปตาม “ผู้ถือบัตรแจ้ง” ถ้าหักเงินจากบัญชีแล้ว “ธนาคารมีหน้าที่ต้องคืนเงินเข้าบัญชีให้แก่ลูกค้า” ตามเดิมด้วยเช่นกัน แต่เรื่องนี้โชคดีเป็นกระแสข่าว “ทำให้ได้รับชดใช้เงินคืนกันเร็ว” มีการตั้งผู้ประสานงานแต่ละหน่วยงานแลกเปลี่ยนข้อมูลสอบสวนตัดขั้นตอนทำให้สามารถอายัดบัญชีได้เร็ว

ประการต่อมา แล้ว “ความประมาทเลินเล่อ” ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ผู้ฝากนำเงินมาฝากไว้แก่ธนาคาร ต่อมามีคนอื่นปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีไปอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอน ทำให้ผู้ฝากได้รับความเสียหาย เช่นนี้ธนาคารก็ต้องชดใช้เงินคืนที่มักเห็นกันอยู่อย่างต่อเนื่อง

แล้วธนาคารค่อยไล่เบี้ยความเสียหายกับเจ้าหน้าที่ผู้ทำผิดให้รับผิดชอบชำระหนี้ย้อนกันตามลำดับ

แม้แต่มี “คนร้ายเจาะระบบธนาคารดูดเอาเงินในบัญชีลูกค้า” ที่ไม่สามารถติดตามตัวคนกระทำผิดได้ก็มิอาจผลักภาระความเสียหายให้ผู้ฝากเงินโดยสุจริตได้ตาม ป.พ.พ.ม.659 วรรคสอง ระบุให้ผู้รับฝากมีหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและรักษาความปลอดภัย

มิให้ “มิจฉาชีพ” สามารถเจาะแฮ็กระบบธนาคารได้...ยกเว้นว่า“ผู้ฝากเจตนาไม่สุจริต” ด้วยการนำข้อมูลเงินฝากให้ผู้อื่นรับรู้ เพื่อคบคิด หวังต่อผลประโยชน์ในการกระทำอันมิชอบโดยกฎหมายนั้น เช่น กรณีนำบัตรเครดิตให้ผู้อื่นไปใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แล้วแจ้งบัตรหายเท็จก่อนสืบทราบได้ว่า...

“ทุจริตเป็นขบวนการ” ลักษณะนี้ธนาคารไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ

หนำซ้ำ “ผู้ฝากไม่สุจริต” ก็อาจต้องเข้าข่าย “ฐานความผิดฉ้อโกง” ถูกดำเนินคดีอาญาด้วย ดังนั้นเรื่อง “เงินหายจากบัญชี” ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับธนาคารด้วยเช่นกัน

ประเด็น “มิจฉาชีพขโมยข้อมูลบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตใช้จ่ายสินค้าผ่านออนไลน์” มักเกิดขึ้นประจำ ส่วนหนึ่งมาจาก “ความโลภ” มัก ไม่ตรวจ SMS หลอกกรอกเอาข้อมูลในการเสนอผลกำไรง่ายๆ อีกส่วน “ถูกก๊อบปี้บัตรในการใช้จ่ายทั่วไป” แล้วปัญหามีอยู่ว่าบางกรณีธนาคารปฏิเสธความรับผิดชอบก็มี

ด้วยเหตุความผิดพลาดจาก “ผู้ถือบัตรเลินเล่อ” กลายเป็นการฟ้องร้อง ความเสียหายกัน ถ้าเป็นเช่นนี้แนะนำว่า “เมื่อบัตรหาย หรือรายการบัญชีผิดปกติ” ผู้ถือบัตรต้องแจ้งธนาคารทราบเร่งด่วน “ระงับอายัดบัตร” นับแต่ วันที่รู้แล้ว “รวบรวมเอกสารเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน”

เพื่อเป็นหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์...เพราะเมื่อหาข้อยุติไม่ได้มัก “ฟ้องร้องคดี” ทำให้ผู้ถือบัตรมักมีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์เพียงลำพังอาจติดตามพยานหลักฐานได้ยาก จึงต้องใช้สิทธิความเป็นเจ้าของเงินหายไปในบัญชีจากการถูกทุจริตโดยมิชอบร้องทุกข์ต่อ “ตำรวจ”...

ที่จะช่วยสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำความผิดนำมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วน “ธนาคารเป็นผู้เสียหาย” ในฐานะมีหน้าที่ดูแลเงินผู้ฝากก็ ติดตามผู้กระทำความผิดเรียกเงินคืนด้วยการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเรียกเงินคืนเช่นกัน

เรื่องนี้ค่อนข้างสับสนทำให้ก่อนหน้านี้ “พนักงานสอบสวนบางคน” อาจเข้าใจผิดคิดว่า “ธนาคารเป็นผู้เสียหาย” แล้วไม่รับแจ้งความดำเนินคดีให้ประชาชนหรือไม่ ทำให้ผู้ถือบัตรต้องเป็นคนรับเคราะห์ไปตามลำพัง... ฉะนั้นหาก “ประชาชนเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ในคดีอาญาโดยชอบด้วยกฎหมาย” แล้วพนักงานสอบสวนบอกเหตุ “ไม่รับแจ้งความ” ต้องบอกกล่าวกลับว่า “การร้องทุกข์สามารถทำได้ทุกกรณีที่ไหนก็ได้” หากไม่รับแจ้งก็อาจเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้นก็ได้

ย้ำว่า “การฝากเงินกับธนาคาร” เป็นสัญญาตกลงกัน 2 ฝ่าย “ผู้รับฝาก” จะเก็บรักษาไว้แล้วคืนให้ครบจำนวน ถ้าเงินในบัญชีหายไปโดย “ผู้ฝากมิได้ทุจริต” ตามกฎหมายให้ธนาคารต้องรับผิดชอบ ฝากว่า “ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลบัตรให้ใครรู้ หรือต้องปกปิดรหัส 3 ตัวหลังบัตรไว้” เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้จ่าย

ในการป้องกันมิให้แอบถ่ายรูปด้านหน้า...หลังบัตรนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์อย่างที่เกิดอยู่นี้

ความเจริญก้าวหน้ามักมาคู่กับ “อาชญากรรมทางเทคโนโลยีอันลึกล้ำ” ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อต้องมีสติก่อนคลิก ตรวจสอบรายการธุรกรรมสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโดนดูดเงินโดยไม่รู้ตัว...


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ