ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามโครงการพิเศษที่ ธปท.จัดตั้งขึ้นนอกเหนือจากการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน และการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมพบว่า แต่ละโครงการมีลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 สมัครเข้าการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง โดยในส่วนของโครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาจัด 2 ช่วงหลัก คือ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 14 ก.พ.-30 มิ.ย.64 จบโครงการมีผู้สนใจลงทะเบียน สูงที่สุด 685,809 บัญชี เข้าเงื่อนไข 291,217 บัญชี ได้ข้อสรุปแล้ว 208,897 บัญชี อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 138,935 บัญชี คิดเป็นสัดส่วนที่สำเร็จ 71.73%
ขณะที่มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค.64 มีผู้ลงทะเบียน 26,044 บัญชี ได้ข้อสรุปแล้ว 7,484 บัญชี อยู่ระหว่างดำเนินการ 14,470 บัญชี คิดเป็นความสำเร็จ 76.74% โดยล่าสุด ธปท.ได้ขยายมหกรรมฯสินเชื่อเช่าซื้อออกไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ และหลังจากนี้ในช่วงกลางเดือน ก.ย.จนถึงเดือน ธ.ค.นี้ ธปท.จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินเชื่อบ้าน เพื่อช่วยให้ลูกหนี้บ้านเริ่มมีปัญหาผ่อนไม่ไหว
สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นการแก้หนี้ให้กับลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีลูกหนี้เข้าโครงการ และได้รับความช่วยเหลือแก้หนี้ 63,840 บัญชี สำเร็จสูงมากถึง 92% โครงการทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยประสานงานกรณีลูกหนี้ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกับเจ้าหนี้ได้ มีลูกหนี้เข้ารับความช่วยเหลือ 204,505 บัญชี ได้รับการแก้ไขสำเร็จ 74% ขณะเดียวกัน ในส่วนโครงการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม ล่าสุดข้อมูลถึงวันที่ 2 ส.ค. มีลูกหนี้ในโครงการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อใหม่แล้ว 28,224 ราย วงเงินสินเชื่อ 85,872 ล้านบาท ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น หลังการลดหย่อนภาษีในกรณีการโอน และจดจำนองมีผลบังคับใช้ โดยล่าสุด ยอดถึงวันที่ 2 ส.ค. มีลูกหนี้ที่เข้ารับการตีราคา และโอนสินทรัพย์เพื่อพักหนี้ทั้งสิ้น 21 ราย คิดมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนทั้งสิ้น 1,855.09 ล้านบาท.