“ออมสิน” ระดมปล่อยสินเชื่อ จ่อเปิดตัวเงินกู้รายวันนำคนไทยฝ่าพิษโควิด

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ออมสิน” ระดมปล่อยสินเชื่อ จ่อเปิดตัวเงินกู้รายวันนำคนไทยฝ่าพิษโควิด

Date Time: 24 มิ.ย. 2564 08:38 น.

Summary

  • “วิทัย” ปลุกปั้น “ออมสิน” ธนาคารเพื่อสังคม ทั้งแทรกแซงกลไก ตลาดดอกเบี้ยกดให้ต่ำลง เปิดโอกาสให้คนไม่เคยกู้เงิน มีโอกาสกู้เงิน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เดินหน้าสร้างอาชีพ

Latest

ไกล่เกลี่ยหนี้!!

“วิทัย” ปลุกปั้น “ออมสิน” ธนาคารเพื่อสังคม ทั้งแทรกแซงกลไก ตลาดดอกเบี้ยกดให้ต่ำลง เปิดโอกาสให้คนไม่เคยกู้เงิน มีโอกาสกู้เงิน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เดินหน้าสร้างอาชีพ รับมือคนตกจากพิษโควิด-19 เตรียมเปิดตัวโครงการ “ปล่อยให้กู้เป็นรายวัน” ยกสาขาธนาคารไว้บนมือถือ ผ่านแอปฯ MyMo เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งปล่อยกู้ ผ่อนชำระ ตรวจสอบสถานะ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าในระยะ 1 ปีที่ทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการออมสิน ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เข้าถึงแหล่งเงินเพื่อนำเงินที่ขอกู้ได้ไปต่อยอด ยกระดับความเป็นอยู่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ได้นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยความมุ่งมั่นจะทำให้ธนาคารเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม

คุยลั่นทุ่งอวดผลงานรอบ 1 ปี

“1 ปีที่ผ่านมา ผมได้ทำให้คนฐานรากได้เข้าถึงแหล่งเงิน ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำรวม 3 ล้านราย โดย 2.4 ล้านราย ได้อนุมัติสินเชื่อให้โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์เป็นหลัก บางรายไม่เคยกู้เงิน ไม่มีเครดิต ไม่มีประวัติทางการเงินใดๆ แต่ผมก็กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เพราะต้องการช่วยเหลือ และเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ เพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อลูกค้ามีเงิน ก็จะนำเงินมาชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกัน ที่ผ่านมา ลูกค้าหลายราย ชำระหนี้เงินกู้ตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้เป็นจำนวนมาก มีเพียงส่วนน้อยที่ยังไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งผมก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสร้างความเข้าใจ เรื่องการผ่อนชำระเพื่อมิให้เสียประวัติการกู้ยืมเงิน”

สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มฐานรากให้เข้าถึงแหล่งทุน ธนาคารได้มีการออกแพ็กเกจการกู้เงินหลากหลายกลุ่ม เช่น อาชีพอิสระ สามารถกู้ได้รายละ 10,000 บาท, ผู้ที่มีรายได้ประจำ รายละ 50,000 บาท, ลูกค้าของกลุ่มเสริมพลังฐานรากรายละ 10,000 บาท, เงินกู้สู้ภัยโควิด 10,000 บาท ขณะที่เอสเอ็มอี ก็ได้ออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ภายใต้โครงการ “มีที่...มีเงิน” เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วไปและธุรกิจท่องเที่ยว ล่าสุดปล่อยสินเชื่อรวม 18,000 ราย วงเงิน 155,700 ล้านบาท

“การปล่อยสินเชื่อในภาวะโควิด-19 ต้องทำด้วยความระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) แต่ธนาคารก็ต้องปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจที่เดือดร้อนโดยไม่ได้วิเคราะห์ผลทางธุรกิจมากนัก ไม่ได้ตรวจสอบกฎเกณฑ์รายได้ เพราะหากต้องวิเคราะห์รายได้ก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวไม่มีรายได้แต่ก็ต้องปล่อยกู้ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนำไปจ้างงาน แม้เป็นเงินที่ไม่มากแต่ก็ช่วยเหลือหล่อเลี้ยงกิจการได้ระยะหนึ่ง”

ลดดอกเบี้ยสร้างความเป็นธรรม

ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยเหลือด้วยการปล่อยสินเชื่อแล้ว ธนาคารยังมีมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาหนี้เสีย ลูกค้าเสียประวัติ ด้วยการออกมาตรการลด-พักชำระหนี้ ที่มีทั้งพักชำระเงินต้น, พักและลดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3-12 เดือน โดยมีรายการให้ลูกค้าเลือกผ่อนชำระได้ตามความสมัครใจ ที่สำคัญมาตรการดังกล่าวในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมายังไม่มีลูกค้าผิดนัดชำระ และมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการ 700,000 ราย วงเงิน 360,000ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ในแผนยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมให้สังคม ในฐานะเป็นธนาคารของรัฐ ทำให้ธนาคารต้องเป็นกลไกแทรกแซงตลาดอัตราดอกเบี้ยให้ลดต่ำลง โดยที่ผ่านมาถือว่าดำเนินการได้ในระดับหนึ่งแล้ว และจะยังคงเป็นกลไกแทรกแซงตลาดดอกเบี้ยไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเป็นธรรม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนตั้งบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เพื่อรับจำนำทะเบียนรถยนต์ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้รับการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมอยู่ที่ 14.99%ต่อปี ถือว่าต่ำสุดในประวัติการณ์ ต่ำกว่าดอกเบี้ยในตลาดขณะนี้ที่ระดับ 24-28% ต่อปี

ช่วยสร้างอาชีพรับมือคนตกงาน

นอกจากภารกิจปล่อยสินเชื่อให้คนฐานรากแล้ว หากโควิด-19 คลี่คลายลง ธนาคารจะเร่งเดินหน้าสร้างอาชีพให้กับประชาชนที่ตกงาน โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดอบรมอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้ เช่น ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ ช่างเสริมสวย ร้านอาหารและอื่นๆ ที่สามารถสร้างอาชีพได้ ซึ่งธนาคาร จะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำเงินไปสร้างอาชีพรายละไม่เกิน 30,000-50,000 บาท และผ่อนชำระเป็นรายวัน ทำให้เป็นการช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ในระดับหนึ่ง โดยเป้าหมายต่อไปก็จะเปิดโครงการปล่อยสินเชื่อประเภทให้กู้เป็นรายวันในเร็วๆนี้ด้วย

“การสร้างอาชีพควบคู่ไปกับการปล่อยสินเชื่อต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะเชื่อว่าหลังโควิด-19 คลี่คลาย จะมีคนตกงานจำนวนหนึ่ง และธนาคาร ก็จะเกาะติดการสร้างอาชีพ แบบถึงลูกถึงคนว่าผู้ที่มาขอกู้จะต้องกู้เงินไปเพื่อสร้างอาชีพจริงๆ แม้ว่าหากมีการจัดฝึกอบรมเพื่อปูพื้นฐานอาชีพ 100 คน อาจจะได้คนทำจริงไม่กี่คน ก็จะต้องทำ เพราะเชื่อมั่นว่าจะสามารถต่อยอดสร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชนได้”

เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับบริการ

ขณะเดียวกัน วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาใช้และพัฒนาเพื่อยกระดับการให้บริการ ลดการเดินทางไปติดต่อทำธุรกรรมที่สาขาของลูกค้า เพื่อลดความเสี่ยง ล่าสุดธนาคารได้พัฒนาแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้า เสมือนว่าไปทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร โดยจะพัฒนาให้ง่ายและสะดวกกับผู้ใช้งาน เหมือนยกสาขาธนาคารไว้บนมือถือ และที่ผ่านมา MyMo ก็สามารถปรับแผนการชำระหนี้ได้รวม 400,000 ราย และปล่อยสินเชื่อเกือบ 1 ล้านราย ธนาคารก็จะเร่งพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและปัจจุบันลูกค้าก็สามารถยื่นกู้ ผ่อนชำระ ตรวจสอบสถานะผ่านแอปฯ MyMo

“ถ้าเราสามารถให้ลูกค้าทำธุรกรรมบนแอปฯ MyMo ได้ทุกๆบริการ ก็จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคาร ต้นทุนที่ลดลง ก็สามารถไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าได้ เพราะผมมีเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารเพื่อสังคม ก็ต้องเป็นกลไกในการลดดอกเบี้ยด้วย ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วยในการยกระดับบริการของธนาคาร”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ