แบงก์ชาติออกมาตรการช่วยลูกหนี้ 4 สินเชื่อทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต สินเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สู้ภัยโควิด19 ระบาดระลอกใหม่
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง การระบาดระลอกใหม่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ โรงแรม ร้านอาหาร รถบริการรับส่งคน ซึ่งมีพนักงานและลูกจ้างได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้หายไปหรือลดลง และมีสัญญาณว่าลูกหนี้รายย่อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น
โดยการประเมินของสถาบันการเงินพบว่าลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเดิมยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่องและมีลูกหนี้ใหม่ที่ต้องการรับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความเปราะบางที่สะสมมาตั้งแต่การระบาดของโควิด 19 ในระลอกแรก จำเป็นจะต้องช่วยเหลือในเรื่องภาระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ธปท. จึงได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงิน ผ่านสมาคมและชมรมต่าง ๆ รวม 8 แห่ง 1 ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้
1. บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Revolving & Installment Loan)
- เปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาว หรือ ลดค่างวด
- กรณีขยายระยะเวลาเกินกว่า 48 งวด ผู้ให้บริการทางการเงินทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้
- รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์
- ลดค่างวด
สำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง
- พักชำระค่างวด
- ให้ทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
- รวมหนี้
จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์
- ลดค่างวด
- รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
3. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
- ลดค่างวด หรือ ขยายเวลา
ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง พิจารณา 2 ทางเลือก
- พักชำระค่างวด โดยยกเว้นดอกเบี้ยในช่วงที่พัก หรือคิดดอกเบี้ยจากฐานค่างวดในช่วงที่พักชำระหนี้
- การคืนรถ สำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หากราคาประมูลได้จริงต่ำกว่าภาระหนี้ตามสัญญา ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
ทั้งนี้ กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม
- รวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
- หากลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปิดบัญชี ให้ลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่น้อยกว่า 50% ตามกำหนดของสคบ.
เช่าซื้อรถจักรยานยนต์
- ลดค่างวด หรือขยายเวลา เมื่อคำนวณ EIR ใหม่ตลอดอายุสัญญาต้องไม่สูงกว่า EIR เดิม
- รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
- หากลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปิดบัญชี ให้ลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่น้อยกว่า 50% ตามกำหนดของสคบ.
4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน
- บรรเทาภาระหนี้ โดยลดค่างวด หรือพักเงินต้น และจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน หรือ พักเงินต้น และพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย หรือ พักชำระค่างวด
- ทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
- รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.- 31 ธ.ค. 64 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน โดย ธปท. ขอให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามนโยบายของผู้ให้บริการทางการเงิน