เปลี่ยน "ขวดขุ่น" เป็น "เงิน"

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปลี่ยน "ขวดขุ่น" เป็น "เงิน"

Date Time: 23 เม.ย. 2564 05:01 น.

Summary

  • ช่วงที่พวกเรากำลังดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น หลายคนทำงานที่บ้าน อาจซื้ออาหารมาตุนไว้เพื่อไม่ต้องออกจากบ้าน

Latest

แห่ลงทะเบียน “คุณสู้ เราช่วย” ลูกหนี้นอนแบงก์อดใจรอไม่เกินไตรมาสแรก

ช่วงที่พวกเรากำลังดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น หลายคนทำงานที่บ้าน อาจซื้ออาหารมาตุนไว้เพื่อไม่ต้องออกจากบ้าน บางคนต้องทำอาหารทานเองทั้ง 3 มื้อ หรือสั่งอาหารมาส่ง อาจลืมสังเกตไปว่า “ขยะ” เต็มถังเร็วขึ้น!!

วันนี้ “คุณนายพารวย” อยากชวนพวกเรามา “เปลี่ยนขยะเป็นเงิน” กับโครงการ Care the Whale : ขยะล่องหน ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะเป็นพลเมืองของโลก ริเริ่มโครงการร่วมกับภาคเอกชนและธุรกิจเพื่อสังคม ช่วยกันรณรงค์ลดขยะ ลดโลกร้อน โดยเริ่มที่ตัวเราก่อน!!

โครงการ Care the Whale : ขยะล่องหน ได้ชวนให้ร่วม “ปฏิบัติการล่องหนเปลี่ยน ‘คุณขวดขุ่น’ เป็น ‘เงิน’ กัน!! โดยให้ข้อมูลว่า ขวดขุ่น HDPE ที่มีสัญลักษณ์เบอร์ 2 ถ้าเราคัดแยกตามประเภท และนำไปขายตามแหล่งรับซื้อต่างๆ อย่างร้านรับซื้อวัสดุรีไซเคิลหรือ “คุณลุงซาเล้ง” แถวบ้านจะแปลงขวดขุ่นเป็นรายได้ของเราได้เลย!

ขยะที่สามารถทำมารีไซเคิลได้ มีทั้งแก้ว กระดาษ ขวดพลาสติกประเภทต่างๆ จะมีราคาตลาดที่เป็นราคารับซื้อกำหนดไว้ เป็นราคาต่อกิโลกรัม หรือต่อหน่วย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้รับซื้อ ที่แต่ละรายอาจให้ราคาซื้อที่แตกต่างกัน โดยสามารถดูราคาอ้างอิงขยะรีไซเคิลและของเก่า ในเว็บไซต์สมาคมรีไซเคิลขยะและรับซื้อของเก่า หรือจากผู้ซื้อรายใหญ่อย่างวงษ์พาณิชย์ และ Junkbank เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น ขวดขุ่นสีขาว (HDPE) ขวดนม ขวดน้ำดื่มขุ่น ขวดนมเปรี้ยว 1 กิโลกรัม (ประมาณ 20 ขวด) จะมีราคา 5 บาท (อ้างอิงจากวงษ์พาณิชย์ วันที่ 4 เม.ย.64) ดังนั้น ถ้าเรานำขวดขุ่นสีขาว (HDPE) ไปขาย ขวดขุ่นสีขาว 1 กิโลกรัม 5 บาท จะซื้อไข่ไก่เบอร์ 5 ได้ 2 ฟอง ขวดขุ่นสีขาว 6 กิโลกรัม 30 บาท จะซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ 5 ซอง (ซองละ 6 บาท) เป็นต้น

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนนำขยะไปขายต้องทำความสะอาด แยกฝา แยกฉลากออก ไม่นำมาปนกัน เพราะมันทำจากพลาสติกต่างชนิดที่มีมูลค่าต่างกัน และใช้กระบวนการรีไซเคิลที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้ามีสี ราคาก็จะต่างไปอีก อย่างฝาขวดที่เป็นสีๆทำจากพลาสติก HDPE หรือ PP อาจจัดอยู่ในประเภทพลาสติกรวมสี ราคา 3 บาทต่อกิโลกรัม

แม้ขยะเหล่านี้จะได้ค่าตอบแทนไม่มาก แต่การที่เรานำมันไปรีไซเคิลหรือหาทาง “ไปต่อ” ให้พลาสติกเหล่านี้ เช่น นำไปหลอมแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ต่อได้ สุดท้ายจะสามารถลดปริมาณขยะที่หลุมฝังกลบ ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 70-450 ปี และไม่สร้างขยะพลาสติกที่อาจหลุดลอยไปในทะเลเข้าท้องน้องวาฬของเราได้

ไม่เพียงแต่ขยะขวดขุ่นที่แปลงเป็นเงินได้เท่านั้น ขวดแก้ว กระดาษ พลาสติกทั้งขวดขุ่นขวดใสก็สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพียงแค่เราออกแรงแยกประเภทขยะเท่านั้น

เรามาเริ่ม “แปลงขยะเป็นเงินออม” กันดีกว่า ดูซิว่าปีนี้ใครจะออมได้มากกว่ากัน แถมได้ร่วมลดโลกร้อน ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้โลก โดยลดขยะจากต้นทาง หรือกำจัดคำว่าขยะให้หายไป โดยหาทางใช้ให้ถึงที่สุด เริ่มต้นที่ตัวเรา!! สนใจกิจกรรม Care the Whale : ขยะล่องหน กดเข้าไปเลยที่ https://www.setsocialimpact.com/carethewhale
สร้างแรงบันดาลใจดีๆเพื่อโลกและตัวเราเอง!!

คุณนายพารวย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ