สกัดบาทแข็งเร็ว-แข็งนำ-แข็งนาน ธปท.ยกเครื่องตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สกัดบาทแข็งเร็ว-แข็งนำ-แข็งนาน ธปท.ยกเครื่องตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ

Date Time: 6 ม.ค. 2564 06:30 น.

Summary

  • ธปท.จ่อยกเครื่องตลาดอัตราแลกเปลี่ยนฯ ลดแรงกดดันบาทแข็ง ผ่อนเกณฑ์ซื้อขายบาทในตลาดในประเทศ และการถือครองเงินบาทของนิติบุคคลต่างประเทศ

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ธปท.จ่อยกเครื่องตลาดอัตราแลกเปลี่ยนฯ ลดแรงกดดันบาทแข็ง ผ่อนเกณฑ์ซื้อขายบาทในตลาดในประเทศ และการถือครองเงินบาทของนิติบุคคลต่างประเทศ หวังดึงให้เข้ามาซื้อขายในประเทศ หลังพบ 60% อยู่ข้างนอก ทำให้เงินบาทผันผวนแข็งค่า และ ธปท.จับพฤติกรรมไม่ได้ ส่วนการให้ฝรั่งรายงานตัวตนก่อนซื้อพันธบัตร จะเริ่มปลายไตรมาส 1 ปีนี้ และหากจำเป็นพร้อมออกมาตรการระยะสั้นสกัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (5 ม.ค.) น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจมหภาค และ น.ส.ภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันชี้แจงแนวทางการปรับปรุงระบบนิเวศของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่ง “แข็งเร็ว แข็งนำ และแข็งนาน” กว่าสกุลอื่น โดย ธปท.ระบุว่า มี 4 เหตุผลที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและผู้ส่งออกนำเข้าได้รับผลกระทบ เหตุผลแรกมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องมากว่า 5 ปี โดยเกินดุล 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากรายได้จากการส่งออกมากกว่าการนำเข้า รวมทั้งคนไทยและรัฐบาลไทยลงทุนน้อย ทำให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์น้อย

ขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยยังไม่มีความมั่นใจในการออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเท่าที่ควรเหตุผลที่ 2 คือ ผู้ส่งออกและนำเข้าของไทยจำนวนมากยังไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะรายย่อย โดยพบว่าผู้ส่งออกมีการทำป้องกันความเสี่ยงเพียง 19% ขณะที่ผู้นำเข้ามีการทำป้องกันความเสี่ยงเพียง 24% ของทั้งหมดเท่านั้น เหตุผลที่ 3 ต้นทุนค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน และการป้องกันความเสี่ยงยังสูงเมื่อเทียบต่างประเทศ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ทำป้องกันความเสี่ยงเท่าที่ควร และเหตุผลสุดท้ายคือ การซื้อขายเงินบาทของไทยนั้น ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง แม้เราจะเผชิญกับโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะการซื้อขายเงินบาทยังอยู่ในตลาดเงินบาทในต่างประเทศ (offshore) ประมาณ 60% และเป็นการซื้อขายเงินบาทในตลาดในประเทศ (onshore) 40% ซึ่งทำให้ ธปท.ไม่มีข้อมูลของการซื้อขายที่เพียงพอ และทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง

ดังนั้น ธปท.จึงได้ทยอยออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อปรับโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเงินไหลเข้าและไหลออก สนับสนุนการออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย และผู้ประกอบการไทย รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลตัวตนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ ธปท.รู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น และสามารถออกมาตรการที่ตรงจุดและเหมาะสมมากขึ้นได้

น.ส.ภาวิณี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ออก 3 มาตรการดูแลค่าบาท ซึ่งมีความคืบหน้า ดังนี้ มาตรการที่ 1 การเปิดให้คนไทยมีบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (FCD) โดยไม่จำกัดวงเงิน เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อย ออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศง่ายขึ้น และในช่วงต่อไปเตรียมขยายวงเงินการออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ และการลดประเภทของสินทรัพย์ต่างประเทศที่ไม่ให้คนไทยซื้อ 2.ลดเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคการไหลออกของเงินต่างประเทศ และช่วงต่อไปจะเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น รวมทั้งเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงให้ต่ำลง 3.ให้นักลงทุนต่างชาติเปิดเผยตัวตนก่อนการซื้อขายพันธบัตรไทย ซึ่งจะช่วยให้ ธปท.ได้รับรู้ข้อมูลตัวตนและพฤติกรรมของนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมระบบ และคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้สิ้นไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 และล่าสุดวันที่ 5 ม.ค.ได้ออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติที่เคยซื้อขายในตลาดเงินบาทในต่างประเทศ ให้เข้ามาซื้อขายในตลาดในประเทศมากขึ้น เพื่อให้ ธปท.รู้ข้อมูลของนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น และลดความผันผวนของเงินบาท

โดยนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.64 ธปท.ได้ผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศ สามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศ (onshore) ได้คล่องตัวขึ้น ภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC) โดยนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีภาระการรับหรือจ่ายเงินบาทจากการค้าและการลงทุนโดยตรงในประเทศไทย และไม่ประกอบธุรกิจด้านการเงินและทองคำ โดยเงื่อนไขที่ผ่อนคลาย ประกอบด้วย 1.นิติบุคคลต่างประเทศ ไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐาน และสามารถทำธุรกรรมในขอบเขตที่กว้างขึ้น เช่น การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการใช้ประมาณการรายรับรายจ่ายในอนาคต หรือใช้งบการเงินโดยรวม 2. ธปท.ผ่อนผันเกณฑ์ไม่จำกัดยอดคงค้างบัญชีเงินบาทสำหรับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NRBA) จากเดิมจำกัดไว้ไม่เกิน 200 ล้านบาท

ด้าน น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า มาตรการดูแลค่าเงินบาทในระยะต่อไปนั้น ธปท.ได้ติดตามตลาดเงินบาทอย่างใกล้ชิดทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหากจะมีการออกมาตรการระยะสั้น จะต้องตรงจุดและเหมาะสมกับจังหวะเวลาจริงๆ หากมีความจำเป็นจะประกาศให้ทราบต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ