นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นโครงการแก้หนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค.63 ผลของมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวถือว่าน่าพอใจ กล่าวคือ ไม่มีลูกหนี้ต้องออกจากโครงการแม้สักรายเดียว ด้วยเหตุว่าผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว ในขณะที่ลูกหนี้ที่ชำระค่างวดเข้ามาโครงการได้ช่วยเหลือโดยการลดดอกเบี้ยให้ 2% เพื่อลดภาระในช่วงนี้ อีกทั้งแนวทางช่วยเหลือของโครงการมีกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นตัวอย่างที่สถาบันการเงินอาจนำไปประยุกต์ในการออกแบบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อไปได้
“มาตรการนี้เปรียบเหมือนลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับยา 2 ขนานเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยยาชนิดแรกคือการผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนงวดชำระ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือนในช่วง เม.ย.-ก.ย. 2563 และยาชนิดที่สองคือการปรับลดดอกเบี้ยลง 2% เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และเป็นแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่จ่ายค่างวดเข้ามาต่อเนื่อง โดยดอกเบี้ยในช่วงนี้เหลือเพียง 2-3%”
การออกแบบมาตรการช่วยเหลือที่ยึดลูกหนี้เป็นที่ตั้งคือ คำนึงถึงปัญหา ความเดือดร้อน และข้อจำกัดของลูกหนี้ ช่วยให้โครงการสามารถตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ทุกราย ทั้งรายที่ผ่อนไม่ไหวในช่วงนี้และรายที่สามารถจ่ายเข้ามาก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ช่วยตอบโจทย์เจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีลูกหนี้ที่ต้องกลายเป็นหนี้เสีย และมีความสามารถยังผ่อนชำระเข้ามาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ณ พ.ค.63 โครงการคลินิกแก้หนี้สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้วกว่า 21,000 ใบ ครอบคลุมลูกหนี้ 4,204 ราย ซึ่งมีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 5 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 340,000 บาท และขณะนี้มีลูกหนี้ที่รอลงนามในสัญญาอีกกว่า 800 ราย เนื่องจากไม่สามารถเดินทางช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และอีก 1,500 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจเช็กข้อมูลกับสถาบันการเงิน คาดว่าครึ่งแรกของปี 2563 ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการจะเกิน 5,000 ราย.