ธปท.ขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ แบงก์รัฐ นอนแบงก์ เร่งช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และเศรษฐกิจซบเซา วางมาตรการขั้นต่ำ 6 ประเภทสินเชื่อ ลดค่าผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิต เลื่อนการชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย ในการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ดี ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อลดการเอาเปรียบลูกค้า ระบุขณะนี้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 3.1 แสนล้านบาท ส่วนลูกหนี้ที่ยังผ่อนไหวขอให้ส่งต่อ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก การลดภาระการผ่อนส่งหนี้ของประชาชน และเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นเรื่องที่ ธปท.เห็นว่า เป็นมาตรการที่ตรงจุดในขณะนี้ และตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.ร่วมกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) และสถาบันให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ในการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินการ 2 สัปดาห์ สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ในวงเงิน 234,000 ล้านบาท และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 310,000ล้านบาท
“การปรับโครงสร้างหนี้ยังมีแนวทางที่แตกต่างกันระหว่างสถาบันการเงิน ทำให้อาจเกิดปัญหาในการทำความเข้าใจ หรือปรับโครงสร้างหนี้ ธปท.จึงได้หารือและขอความร่วมมือในการสร้างมาตรฐานขั้นต่ำในการปรับโครงสร้างหนี้ของทั้งแบงก์และนอนแบงก์สำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดให้ความเห็นตรงกัน แต่ลูกหนี้อาจได้รับเงื่อนไขที่ดีกว่ามาตรฐานขั้นต่ำนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพราะเป็นไปตามแนวทางของแต่ละแห่ง”
ในขณะที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม เช่น ในภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจ และสถานที่ที่ต้องปิดบริการตามคำสั่งรัฐ ซึ่งสามารถสอบถามสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่ธนาคารของตัวเองได้ ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบน้อย ยังมีงานทำตามปกติ มีเงินเดือน ก็ขอให้ชำระหนี้ได้ตามปกติและไม่ขอรับความช่วยเหลือ ขณะนี้ผู้ให้บริการจะให้เงื่อนไขพิเศษตามความเหมาะสม เพื่อจูงใจในการชำระหนี้
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้เอ็นพีแอล หรือยังไม่เป็นหนี้เสีย เพราะลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่แย่ลง ได้วางมาตรฐานการปรับโครงสร้างหนี้ว่าอย่างน้อยที่สุด ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) และนอนแบงก์ จะให้กับลูกหนี้ เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรฐานและลดการเอาเปรียบลูกหนี้ โดยแบ่งหนี้เป็น 6 ประเภท ประกอบด้วย
1.ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน (revolving loan) จากการหารือ มาตรฐานจะเป็นการลดอัตรา ผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 10% ให้เหลือ 5% เป็นเวลา 2 ปี ในปี 2563-2564 และเพิ่มขึ้นเป็นการผ่อนขั้นต่ำ 8% ในปี 2565 และกลับเป็น 10% ในปี 2566
นอกจากนี้ หากต้องการลูกหนี้ก็สามารถแปลงหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อระยะสั้น เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้ด้วย
2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในส่วนธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของรัฐ (SFI) ให้เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 เดือน ขณะที่ผู้ให้บริการอื่นๆเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน
สินเชื่อประเภทที่ 3 คือสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) ในกรณีรถมอเตอร์ไซค์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และกรณีรถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท และสินเชื่อประเภทที่ 4 คือลีสซิ่ง (Leasing) ที่มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท ใน 2 กรณีนี้ ให้ผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือพักชำระหนี้เงินต้น เป็นเวลา 6 เดือน
สินเชื่อประเภท 5 คือสินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และประเภทที่ 6 สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้ดำเนินการเหมือนกัน คือพักชําระเงินต้น 3 เดือน และลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย โดยทั้งหมดนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้พร้อมเดินหน้าสนับสนุนมาตรการ ของ ธปท. เพื่อช่วยลูกค้า โดยธนาคารฯจะรับคำร้องจากลูกค้าตลอด 7 วันไม่มีวันหยุดผ่านช่องทางสาขาทั่วประเทศ และ call center ตลอด 24 ชั่วโมง ล่าสุดได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าแล้ว 100,000 ราย วงเงินสินเชื่อ 150,000 ล้านบาท.