จัดกลไกเพิ่มสภาพคล่อง 1.1ล้านล้าน ไว้ซื้อหน่วยลงทุน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จัดกลไกเพิ่มสภาพคล่อง 1.1ล้านล้าน ไว้ซื้อหน่วยลงทุน

Date Time: 23 มี.ค. 2563 05:32 น.

Summary

  • ธปท.พร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบไม่อั้น!! ออก 3 มาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดการเงิน พร้อมดูแลตลาดตราสารหนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ไม่จำเป็นต้องขายหรือ ไถ่ถอนหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ลงขันแสนล.หุ้นกู้ เตรียมอีก 5 หมื่นล. ให้ลูกจ้างตกงานกู้ รับประกันเอทีเอ็ม มีเงินสด 24 ชั่วโมง

ธปท.พร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบไม่อั้น!! ออก 3 มาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดการเงิน พร้อมดูแลตลาดตราสารหนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ไม่จำเป็นต้องขายหรือ ไถ่ถอนหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ สั่งแบงก์พาณิชย์รับซื้อหน่วยลงทุนไม่อั้นมากกว่า 1 ล้านล้านบาท แถมตั้งกองทุนแสนล้านลงทุนหุ้นกู้เอกชน ด้านสมาคมธนาคารไทยประกาศแบงก์เปิดทำการปกติ สำรองเงินสดให้กด 24 ชั่วโมง ขณะที่คลังเตรียมแจกเงินกู้ รายละ 1-2 หมื่นบาท ดอกเบี้ยต่ำ

ผลพวงหลังจากการที่กรุงเทพมหานครประกาศปิด 26 สถานที่เสี่ยงแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงหรือโรคโควิด-19 รวมถึงในหลายจังหวัดพร้อมใจปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราวตามไปด้วย ทำให้ห้างร้านส่วนใหญ่ต้องปิดตัวไปโดยปริยาย เนื่องจากไร้ลูกค้ามาใช้บริการ กระทบถึงลูกจ้างพลอยตกงานไปด้วยนั้น

ก.ล.ต.–แบงก์ชาติถกด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 มี.ค.นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย นายวศิน วณิชย์วรนันท์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดแถลงข่าวด่วนถึงมาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19 กับตลาดเงินตลาดทุน โดยนายวิรไทกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ได้สร้างความกังวลให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ผันผวนสูง นักลงทุนหลาย ประเทศพากันเทขายสินทรัพย์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง กระทบสภาพคล่องของตลาดการเงิน ส่งผลให้ตลาดการเงินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ภาครัฐในหลายประเทศจึงได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินอย่างต่อเนื่อง

กนง.ลดดอกเบี้ยให้ต่ำสุดแล้ว

ขณะที่ระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพที่ดี ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเข้มแข็งและไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่สภาพคล่องที่ตึงตัวในระบบการเงินได้เริ่มส่งผลต่อตลาดการเงินไทย โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท และหยุดการดึงเงินสภาพคล่องออกจากระบบ โดยลดและยกเลิกการออกพันธบัตร ธปท. รวมทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ยังมีความผันผวนสูง ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ บางส่วนเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุน ส่งผลให้กองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่ง ต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ผู้ถือหน่วย ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่นๆตามมา จนกระทบต่อการทำงานของกองทุนรวมตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคเอกชน เศรษฐกิจ และประชาชนเป็นวงกว้าง

อัดเงินรับซื้อหน่วยลงทุน 1.1 ล้านล้าน

ดังนั้น กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต.เห็นควรออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายวงกว้างประกอบด้วย 3 ด้าน ดังนี้ 1.ธปท.ได้จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมตราสารหนี้ ผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยเมื่อผู้ถือหน่วยลงทุน ประเภทกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) เกิดความตื่นตระหนกมาขายคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนกับ บลจ.ผู้ออกกองทุน บลจ.ก็จะนำหน่วยลงทุนที่รับซื้อคืนนี้ไปขายให้กับธนาคารพาณิชย์

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมดังกล่าว ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์คุณภาพดี โดย ธปท. ได้ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วย ลงทุนดังกล่าว มาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ จากการประมาณการเบื้องต้น พบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดี ที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

“ธนาคารพาณิชย์สามารถรับซื้อหน่วยลงทุนได้ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.นี้ได้เลย และนำมาขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.นี้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกไปไถ่ถอนหรือขายคืนหน่วยลงทุน ในภาวะที่ตลาดการเงินไม่ปกติเพราะอาจส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งราคาหน่วยลงทุนลดลงมามากในช่วงนี้ ซึ่งจะทำให้เสียโอกาส เพราะกองทุนรวมตราสารหนี้โดยรวม มีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีและมีความเสี่ยงต่ำ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ” นายวิรไทกล่าว

ตั้งกองทุนซื้อหุ้นกู้เอกชนแสนล้าน

2.จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง ที่ร่วมกันจัดตั้งหรือลงขันโดยสมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่อง จนส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุ (rollover) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน โดยเบื้องต้นมีผู้แจ้งขอความจำนงเข้าร่วมตั้งกองทุนแล้ว 80,000 ล้านบาท เป็นเงินจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทย 40,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท กบข. 10,000 ล้านบาท สมาชิกสมาคมประกันภัย 10,000 ล้านบาท โดยกำลังติดต่อกับหน่วยงานอื่นๆเข้าร่วมด้วย โดยหุ้นกู้ที่กองทุนนี้จะรับซื้อจะเป็นหุ้นกู้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 270 วัน

3.ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลนั้น ธปท. พร้อมดูแลให้กลไกพันธบัตรรัฐบาลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ โดย ธปท.จะเข้าไปเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบ และเพื่อไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลผันผวน

ไม่ต้องกลัวขาดสภาพคล่อง

“ขอยืนยันว่า ระบบการเงินของไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่เยอะมาก ไม่ต้องกลัวว่าจะขาดสภาพคล่อง สถานการณ์ไม่เหมือนวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่ในประเทศขาดสภาพคล่อง และปัจจุบันประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก ขณะที่มีหนี้ต่างประเทศน้อย ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมั่นคงมาก ขอให้ประ– ชาชนมั่นใจได้ และ 3 มาตรการที่ออกมานี้ จะเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงิน ช่วยให้กลไกตลาดตราสารหนี้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหน่วยลงทุนตราสารหนี้ โดยทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันติดตามพัฒนาการในตลาด การเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมร่วมมือในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายวิรไทย้ำ

แบงก์เตรียมเงินสด 24 ชั่วโมง

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของปัญหามาจากคนไม่รู้ว่าการระบาดโควิดจะจบลงเมื่อไร จึงต้องการถือเงินสดไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยง ดังนั้นขอประกาศว่า ธนาคารพาณิชย์ยังคงเปิดทำการปกติ และตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารจะมีเงินสดเต็มตู้รองรับไว้ตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ และไม่จำเป็นต้องพากันแห่ออกมาถอนเงิน ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ได้ยกระดับแผนฉุกเฉินให้สามารถให้บริการทางการเงินฝากถอนโอนได้เต็มที่ตลอดเวลา

มั่นใจสภาพคล่องยังแกร่ง

ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขอยืนยันว่าสภาพคล่องของประเทศไทยมีมากพอ ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินมีสูงมาก ส่วนการที่ช่วงนี้ประชาชนขายกองทุนตราสารหนี้ออกมาจำนวนมาก เพราะอยากถือเงินสด เนื่องจากกังวลเรื่องโควิด-19 ทั้งที่หุ้นกู้ที่กองทุนลงทุนนั้นเป็นหุ้นกู้ที่มีเสถียรภาพ มีความมั่นคงมาก จึงขออย่าให้ประชาชนตื่นตระหนก รีบไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนตราสารหนี้ ในภาวะที่ตลาดการเงินไม่ปกติ

ส่วนมาตรการชุดช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชุดที่ 2 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างและสถานประกอบการที่ต้องปิดทำการจากมาตรการของรัฐบาล อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด เป็นต้นนั้น หากผ่านการอนุมัติ ครม.วันที่ 24 มี.ค. แล้ว กระทรวงการคลังจะเดินหน้าดำเนินการทันที เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด โดยมาตรการจะครอบคลุมไปถึงประชาชนกลุ่มที่ไม่มีประกันสังคมด้วย

รบ.เตรียมออกมาตรการชุด 2

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการของ ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต.และกระทรวงการคลังอย่างเต็มที่ โดยหลังจากการออกมาตรการเพื่อดูแลสภาพคล่องของระบบและตลาดตราสารหนี้ในวันนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีจำนวนหลายล้านคนแล้ว ส่วนมาตรการที่จะช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชนนั้น จะมีการสรุปมาตรการให้ชัดเจนทั้งหมดในวันจันทร์นี้ และในวันอังคารจะนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชุดที่ 2 เสนอ ครม.ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือโดยตรงไปยังผู้ที่มีรายได้น้อย ทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไวรัสโควิด-19 และการดูแลผลกระทบจากการขาดรายได้ ในช่วงที่ไม่มีงานทำ โดยเฉพาะที่ กทม.สั่งปิดสถานบริการและกิจการต่างๆในช่วงนี้

พร้อมอุ้มรายย่อย-แผงลอย

“เมื่อรัฐบาลขอให้ธุรกิจรายย่อย ร้านค้า ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย และอื่นๆ หยุดกิจการ เราต้องช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อชดเชยรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกจ้างส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่สำนักงานประกันสังคมช่วยเหลือ แต่ส่วนที่ไม่มีประกันสังคม รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือ เพราะช่วงที่ประชาชนขาดรายได้ ยังต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องผ่อนหนี้ทั้งในระบบและหนี้นอกระบบ และหากมาตรการชุดที่ 2 นี้ออกมาแล้ว ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลก็พร้อมที่จะออกมาตรการชุดที่ 3 และชุดที่ 4 มาเพิ่มเติม” นายกอบศักดิ์ กล่าว

คลังเตรียมแจกเงิน-ปล่อยกู้เพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการดูแลกลุ่มลูกจ้างที่ถูกรัฐสั่งปิดสถานประกอบการ เช่น ห้าง ผับ โรงหนัง ร้านอาหาร สนามมวย สนามกีฬา ตลาด (ยกเว้นตลาดสด) เป็นต้น เพื่อนำเสนอต่อ ครม.วันที่ 24 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติม จากการช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคมที่จ่ายเงินให้กับลูกจ้างที่รัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการ 50% เป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 โดยหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลมองไว้ในการช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างที่รัฐสั่งให้ปิดกิจการคือ การแจกเงิน แต่รัฐบาลจะต้องมีระบบหาตัวตนของกลุ่มคนดังกล่าวที่แม่นยำ และจะต้องดูด้วยว่าเงินงบประมาณที่มีอยู่สามารถช่วยเหลือได้แค่ไหน ส่วนอีกมาตรการหนึ่งที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้ คือ การให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมวงเงินไว้ 40,000-50,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับลูกจ้างที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจและตกงานในช่วงนี้ คนละ 10,000-20,000 บาท โดยธนาคารจะคิดดอกเบี้ยต่ำเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน เช่น คิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.1% ต่อปี ดังนั้น ถ้ากู้เงิน 10,000 บาท จะเสียดอกเบี้ยเพียง 10 บาทต่อปี ส่วนถ้ากู้เงิน 20,000 บาท จะเสียดอกเบี้ยเพียง 20 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าถูกมาก นอกจากนี้รัฐบาลยังพิจารณาให้ธนาคารปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยต่อชีวิตของกลุ่มลูกจ้างที่ตกงานและต้องการเงินมาดำรงชีวิต เพราะไม่ต้องชำระหนี้ถึง 6 เดือน โดยหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวและหางานใหม่ได้แล้ว ธนาคารจะให้ผ่อนชำระเพียง 400-500 บาทต่อเดือนเท่านั้น

นายกฯนัดภาคเอกชนถกเยียวยา

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 23 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เวลา 14.00 น.โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม เพื่อติดตามสถานการณ์และประเมินสรุปมาตรการต่างๆที่ออกมา รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านต่างๆ รวมถึงด้านสาธารณสุข การป้องกันการแพร่ระบาด การรักษา การกักตัวเฝ้าดูอาการ ก่อนที่ในวันที่ 26 มี.ค.นายกฯจะเชิญภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม พูดคุยเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ ผลกระทบและสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยา และประเมินผลกระทบ หากจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดไทยเข้าสู่ระยะที่ 3

ยกเลิกขายหน้ากากที่ร้านธงฟ้า

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ หลังจากประสบปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน รวมถึงมีการลอบจำหน่ายในราคาแพงลิ่ว ล่าสุด นายสุชาติ สินรัตน์ รองปลัดกระทรวงฯ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งถึงพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเรื่องการจัดสรรหน้ากากอนามัยให้ร้านธงฟ้า โดยให้พาณิชย์จังหวัดตรวจสอบและติดตามสถานการณ์หน้ากากอนามัยอย่างใกล้ชิด ให้ยกเลิกการจัดสรรสินค้าหน้ากากอนามัยผ่านช่องทางร้านค้าธงฟ้า และให้จัดส่งเป็นงวดสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยพาณิชย์จังหวัดต้องติดตามสถานการณ์จำหน่ายหน้ากากอนามัยอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน ตรวจสอบผู้ประกอบการ ร้านขายยา/ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า ติดตามภาวะราคา ปริมาณการจำหน่ายของหน้ากากอนามัย รวมถึงชี้แจงสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ราคาสินค้าและบริการ พร้อมย้ำด้วยว่าหน้ากากทางการแพทย์ควรส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีใช้อย่างเพียงพอ ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถใช้หน้ากากทางเลือกได้

เน้นกระจายให้ร้านขายยา

ด้านนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรม การค้าภายใน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในได้ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น และความต้องการใช้ โดยหน้ากากอนามัยที่ขณะนี้ผลิตได้ทั้งหมดราว 2.2 ล้านชิ้น

ส่วนใหญ่จะจัดสรรให้กับกระทวงสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งจากการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าเมื่อการระบาดเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น่าจะเพิ่มจากขณะนี้อีกร้อยละ 30-50 ของจำนวนที่หน้ากากอนามัยที่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยจัดสรรให้วันละ 1.3 ล้านชิ้น ส่วนที่เหลือกระทรวงพาณิชย์จะจัดสรรใหม่ทั้งหมด โดยจะเน้นกระจายให้กับร้านขายยาเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น คนขับแท็กซี่ ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดว่า สมควรจะนำไปกระจายให้กับใครบ้าง พร้อมกำชับพาณิชย์จังหวัด และสำนักงานชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน ให้ตรวจสอบสถานการณ์จำหน่ายสินค้าทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อค้ากักตุนสินค้าหรือฉวยโอกาสในการปรับขึ้นราคา หากพบร้านค้าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า จะมีโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

บขส.วอนผู้โดยสารใส่หน้ากาก

ขณะที่นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.กล่าวว่า ขณะนี้กระแสการเดินทางของผู้โดยสารที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในเส้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) มีจำนวนปกติ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่มาซื้อตั๋วเดินทางกลับในเส้นทาง เช่น แม่สอด มุกดาหาร นครพนม และอุบลราชธานี เป็นต้น ทำให้เส้นทางดังกล่าวมีผู้เดินทางเพิ่มขึ้น ส่วนเส้นทางอื่นการเดินทางปกติ อย่างไรก็ตาม บขส.ขอความร่วมมือผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจลเพื่อใช้ในการเดินทาง หากไม่มีความจำเป็นขอให้งดเดินทาง เพื่อลดความแออัดภายในสถานีขนส่ง และขอให้ผู้โดยสารเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในการเข้าใช้บริการสถานีขนส่ง รวมทั้งขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการรถร่วมฯ และรถตู้โดยสาร ให้ช่วยกันดูแลทำความสะอาดรถโดยสาร และดูแลสุขอนามัยของพนักงานประจำรถด้วย

สาขาแบงก์เปิด-ปิดตามข้อกำหนดห้าง

ขณะเดียวกัน สมาคมธนาคารไทย ออกประกาศแจ้งว่า ธนาคารพาณิชย์ประกาศยังคงเปิดให้บริการสาขาที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้าและในพื้นที่อื่นๆ พร้อมให้บริการแก่ลูกค้าทุกคนอย่างต่อเนื่อง หลังจากกรุงเทพมหานครออกประกาศการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.2563 ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ระบุว่าด้วยความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังคงเปิดดำเนินงานและให้บริการที่สาขาของธนาคาร ที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้าและในพื้นที่อื่นตามปกติ โดยการเปิดให้บริการของสาขาธนาคารจะเป็นไปตามประกาศของทางการ นโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างสรรพสินค้าและพื้นที่อื่นๆตามที่กำหนด โดยสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า ในโซนที่ปิดให้บริการ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปิดให้บริการไปด้วย อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ปิดบริการสาขาในห้างสรรพสินค้า จำนวน 49 สาขา ธนาคารกรุงไทย 41 สาขา และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 41 สาขา ขณะที่หาก สถานที่ตั้งของธนาคารอยู่ชั้นเดียวกับซุปเปอร์มาร์เกต และศูนย์อาหารที่ห้างเปิดให้บริการ สาขาของธนาคารยังเปิดให้บริการเป็นไปตามปกติ

เซเว่นฯ รับ 2 หมื่นคนเพื่อส่งสินค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลปิดให้บริการตามประกาศของ กทม.ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.2563 ยกเว้นซุปเปอร์มาร์เกต ร้านขายยา ร้านขายอาหารสัตว์ ร้านสะดวกซื้อในศูนย์การค้าเปิดให้บริการ สำหรับซุปเปอร์มาร์เกตได้เปิดให้บริการปกติ โดยท็อปส์และเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ได้ปรับเวลาสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเวลา 08.00-23.00 น. ศูนย์ค้าส่งแม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, ฟู้ดแลนด์ รวมถึงร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท, ลอว์สัน 108 โดยอาหารจะต้องซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น ทำให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย เปิดรับสมัครทีมงานเพื่อให้บริการขนส่งสินค้า Delivery จากร้านเซเว่นฯ ถึงมือประชาชนที่บ้านพักอาศัย จำนวน 20,000 อัตราทั่วประเทศ โดยจะทยอยรับอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายบริการ Delivery จากปัจจุบัน 1,500 สาขา เพิ่มเป็นทุกสาขาในอนาคต สำหรับผู้สนใจสมัครงานด้าน Delivery สามารถลงทะเบียนสมัครและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cpall.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ