ผวารัฐบาล “ชัตดาวน์” ดิ้นหาทางออก หวั่นไม่มีเงินบริหารประเทศ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผวารัฐบาล “ชัตดาวน์” ดิ้นหาทางออก หวั่นไม่มีเงินบริหารประเทศ

Date Time: 24 ม.ค. 2563 10:07 น.

Summary

  • ผลพวงการเสียบบัตรแทนกันในการโหวตลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ทำให้รัฐบาลเสี่ยงชัตดาวน์ ไม่มีเงินบริหารประเทศ ขณะที่สำนักงบประมาณแนะรัฐบาลขอแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณจากเดิม

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ผลพวงการเสียบบัตรแทนกันในการโหวตลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ทำให้รัฐบาลเสี่ยงชัตดาวน์ ไม่มีเงินบริหารประเทศ ขณะที่สำนักงบประมาณแนะรัฐบาลขอแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณจากเดิม ให้ใช้งบประมาณเก่าไปพลางก่อนไม่เกินครึ่งหนึ่ง ขยายเป็นไม่เกิน 75% เพื่อป้องกันรัฐบาลชัตดาวน์

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณกำลังรอความชัดเจน กรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 จะสามารถประกาศใช้ได้ในเร็วๆนี้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายปี 63 ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาวาระ 2 และ 3 รวมถึงผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว โดยแผนงานเดิมคาดว่างบประมาณรายจ่ายปี 63 จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค. หรืออย่างช้าต้น ก.พ.63 ซึ่งล่าช้ากว่าปีงบประมาณปกติถึง 4 เดือน (เดือน ต.ค.เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ) แต่ยังพอรับได้ เพราะมีเวลาใช้จ่ายเงิน 8-9 เดือนจนถึงสิ้นปีงบ 63 ในเดือน ก.ย.นี้ แต่ขณะนี้มามีปัญหา กรณีที่มีการเสียบบัตรแทนกันในการลงมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ทำให้ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณต้องล่าช้าออกไปอีก

“ปีงบประมาณ 63 ถือว่ามีความล่าช้ามากที่สุด เพราะเวลาที่เหลืออยู่จะทำให้การบริหารเงินงบประมาณและการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินทำได้ยาก เนื่องจากส่วนราชการมีเวลานำเสนอโครงการ และทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างสั้นลง เพราะปกติจะใช้เวลาทำงานเรื่องนี้ 3-4 เดือน และอีก 2-3 เดือน ถึงจะเปิดประมูลและสรรหาผู้ชนะประมูล รวมแล้วต้องใช้เวลา 6-7 เดือนถึงจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ ดังนั้น การเบิกงบประมาณมักไปกระจุกตัวช่วงสิ้นปีงบประมาณ”

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงบประมาณ ขณะนี้กำลังช่วยรัฐบาลหาทางออก เพื่อให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด หรือทำอย่างไรในช่วงที่งบประมาณใหม่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ แต่ส่วนราชการยังมีเงินเบิกจ่ายได้ตามปกติ โดยไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณระบุว่า กรณีที่งบประมาณใหม่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา ให้นำงบ ประมาณกึ่งหนึ่ง หรือครึ่งหนึ่งของปีก่อนใช้ไปพลางก่อน ซึ่งขณะนี้งบประมาณปี 63 ล่าช้าไปแล้ว 4 เดือน โดยมียอดเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท จากวงเงินงบประมาณปี 63 ทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าเงินงบประมาณที่ยังเหลือใช้ได้โดยไม่เกินครึ่งหนึ่งนั้น ยังมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะเบิกจ่ายได้ถึงเดือน มี.ค.63 เท่านั้น

“ตอนนี้กำลังตรวจสอบผลการเบิกจ่ายงบประจำของหน่วยงานทั้งหมดว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และหากงบประมาณยังไม่มีผลบังคับใช้ จะเบิกใช้ได้อีกเท่าไหร่ ซึ่งคาดว่ายังเหลืออยู่ 500,000 ล้านบาท และน่าจะใช้ได้ถึงเดือน มี.ค.เท่านั้น ดังนั้น หากยังไม่มีความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ ขอยืนยันว่าเงินเดือนค่าจ้างและค่าวัสดุและครุภัณฑ์ยังเบิกจ่ายต่อไปได้ แต่หากเลยสิ้นเดือน มี.ค.ไปแล้ว จะไม่มีหน่วยงานไหนเบิกเงินได้ เพราะเบิกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณจะขอให้นายกรัฐมนตรีขยายวงเงินจากไม่เกินครึ่งหนึ่ง ขยายเป็นไม่เกิน 75% เพื่อขยายวงเงินให้สามารถเบิกจ่ายต่อไปได้อีก 2 เดือนหรือจนถึงเดือน พ.ค.63 ปัญหาต่างๆน่าจะดีขึ้น เพื่อป้องกันรัฐบาล shut down ส่วนรูปแบบและวิธีการเป็นอย่างไรต้องหารือกับรัฐบาลก่อน”

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการเดินหน้าต่อได้ สำนักงบประมาณมีมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบปี 63 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 14 ม.ค.63

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่างบประมาณรายจ่ายปี 63 จะใช้ได้เมื่อไหร่ เพราะอยู่ระหว่างรอดูผลกระทบด้านกฎหมายที่จะเกิดขึ้นจากการที่ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน แต่ยอมรับว่างบประมาณรายจ่ายปี 63 ล่าช้ามาแล้ว 4 เดือน และกว่าจะออกแบบโครงการและลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ ก็ใช้เวลาอีก 2-3 เดือน หรือราว มี.ค. ทำให้ระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินงบประมาณเหลือเพียง 6 เดือน และยังมาเจอเรื่องการเสียบบัตรแทนกันอีกยิ่งทำให้เกิดความล่าช้าไปอีก อาจเหลือเพียง 4 เดือนเท่านั้น ที่สามารถใช้งบประมาณได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ เพราะขณะนี้เวียดนาม มาเลเซียและประเทศเพื่อนบ้านรอบๆไทยมีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องดูแลปัญหาภายในประเทศให้ดีที่สุด อย่าทะเลาะกัน ส่วนกรณีที่จะเสนอออก พ.ร.ก.เพื่อให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณมาใช้ล่วงหน้า ช่วงที่งบประมาณมีปัญหานั้น เรื่องนี้อยู่ที่การพิจารณาของศาล ไม่ควรพูดก่อนล่วงหน้า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ