นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน พ.ค.62 ว่า อยู่ที่ระดับ 47.4 ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจาก 47.8 ในเดือน เม.ย.62 เพราะผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทยทุกภูมิภาคเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลงจากความกังวลการจัดตั้งรัฐบาล และยังมีปัญหาความยากจน การกระจายรายได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ค่าครองชีพสูง รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เป็นต้น
“สมาชิกหอการค้าไทยกำลังจับตารัฐบาลชุดใหม่และโฉมหน้ารัฐมนตรี หลังได้นายกรัฐมนตรีแล้ว รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาลจะตกลงกันได้หรือไม่ และต่อเนื่องจากนโยบายเดิมของรัฐบาลหรือไม่ รวมถึงรัฐบาลจะบริหารจัดการกับเสถียรภาพการเมืองอย่างไร หลังเสียงสนับสนุนของรัฐบาลใกล้เคียงกับฝ่ายค้าน หรือมีเสียงปริ่มน้ำ เป็นต้น”
นายวชิรกล่าวว่า สมาชิกต้องการเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน, ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และเร่งกระตุ้นการลงทุนภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันระบบขนส่งคมนาคมของประเทศให้เชื่อมโยงกันอย่างมีระบบรองรับการขยายเศรษฐกิจในอนาคต การขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศใหม่ๆและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน แม้จะมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนเข้ามาช่วยลดค่าครองชีพคนกว่า 14 ล้านคน แต่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง แต่คนในเมืองกับคนชนบทยังมีรายได้แตกต่างกันมาก ดังนั้น ภาครัฐต้องแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ระดับต่ำ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยสะท้อนว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซึมตัว ซึ่งทุกภูมิภาคมีปัญหาตรงกันคือราคาสินค้าเกษตร ดังนั้น หากมีรัฐบาลใหม่ช่วง ก.ค.-ส.ค.62 และมีการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท รวมถึงดูแลภาคเกษตรและการท่องเที่ยวจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังขยายตัวได้ 3.8-4% และส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ 3.5% ส่วนสงครามการค้าหากหาทางออกร่วมกันได้ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้อีก แต่หากการเจรจาไม่คืบหน้าและสหรัฐฯเก็บภาษีจากจีนเพิ่มอีก เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่า 3.5% ได้.