น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.พ.62 ว่า เท่ากับ 101.95 สูงขึ้น 0.73% เทียบกับเดือน ก.พ.61 และสูงขึ้น 0.24% เทียบกับเดือน ม.ค.62 ขณะที่เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 62 สูงขึ้น 0.49% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 เนื่องจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.89% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 5.15% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 4.50% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 2.06% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.62% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.61% อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่ม 1.84% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.75%
ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.09% เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนมากในสินค้าหมวดนี้ลดลง 2.23% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.58%, 0.68% เป็นต้น
ทั้งนี้ ในสินค้า 422 รายการ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเทียบกับราคาปี 61 จำนวน 227 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า เพิ่ม 8.58% เนื้อสุกร เพิ่ม 14.09% ไข่ไก่ เพิ่ม 3.90% นมผง เพิ่ม 3.31% ครีมเทียม เพิ่ม 0.60% กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เพิ่ม 1.92% ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 1.38% อาหารเช้า เพิ่ม 3.71% ข้าวราดแกงเพิ่ม 1.34% อาหารตามสั่ง เพิ่ม 1.60% ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 7.29% น้ำยาล้างห้องน้ำ เพิ่ม 1.36% ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 114 รายการ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 81 รายการ
“เงินเฟ้อเดือน ก.พ. เป็นสัญญาณดีในกลุ่มของภาคเกษตร ที่ราคาเพิ่มขึ้นหลายรายการ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เนื้อหมู ไข่ไก่ มีผลดีต่อเกษตรกร แต่ สนค.ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 62 ไว้ที่ 1.2% เพราะน้ำมันดิบในตลาดโลก แม้จะปรับขึ้นราคา แต่ยังไม่สูงมากนัก ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงอีกวันละ 2-10 บาทนั้น ยังไม่ได้นำมาคำนวณว่าจะมีผลทำให้เงินเฟ้อปีนี้เพิ่มขึ้นเท่าไร เพราะต้องรอให้คณะกรรมการค่าจ้างอนุมัติก่อน” สำหรับการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ ส่งผลดี ทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้น และเกิดการจ้างงาน ทำให้เงินสะพัดในระดับท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนพิธีบรมราชาภิเษกในเดือน พ.ค. ส่งผลดีต่อราคาวัสดุก่อสร้างเช่นกัน โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ ที่มีการเตรียมพร้อมเพื่อใช้ในพิธีบรมราชาภิเษก.