อีกกระแสที่ทำเอาผู้คนในสังคมตื่นตระหนก โดยไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี
กรณีมีกระแสข่าวสะพัด ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” อนุมัติให้ “เซเว่น อีเลฟเว่น” เป็น “แบงก์กิ้ง” แล้ว ทำเอาผู้คนในสังคมโดยเฉพาะในโลกโซเชียลวิพากษ์กันเซ็งแซ่
บ้างก็ว่างานนี้แบงก์พาณิชย์น้อย-ใหญ่คงระส่ำเมื่อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาอยู่นับหมื่นแห่งยกฐานะขึ้นมาเป็นแบงก์ ทำหน้าที่ฝาก ถอน ให้สินเชื่อได้เอง ขณะที่อีกส่วนพากันถล่มโจมตีทุนใหญ่ที่กำลัง “กินรวบทุกสถาบัน”
ล่าสุด ธปท.ได้ออกมาชี้แจงข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า “มีความคลาดเคลื่อน” เพราะกระทรวงการคลังและ ธปท.ยังไม่มีแนวคิดที่จะให้ “ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่” แต่อย่างใด คนที่ทำธุรกิจธนาคารได้ยังเป็น “เจ้าเดิม” ที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น
สิ่งที่ ธปท.ให้ใบอนุญาตออกไปนั้น เป็นเพียงการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้ง “ตัวแทนธนาคารพาณิชย์ (Banking Agent)” เพื่อดำเนินธุรกรรมการเงินแทนธนาคารพาณิชย์แห่งนั้นๆเท่านั้น และเปิดให้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2553 ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน “ระบบการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ให้เล็กลง” และเข้าสู่ “โลกการเงินดิจิทัล”
ก่อให้เกิดคำถาม “ตัวแทนธนาคารพาณิชย์” หรือ “Banking Agent” ที่ว่าคืออะไร และระบบดังกล่าวจะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยให้กลายเป็น “ธนาคารสะดวกซื้อ” ฝาก-ถอน-จ่าย-โอนเงินได้ที่ร้านโมเดิร์นเทรด สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ทั่วประเทศอย่างที่คาดกันไว้หรือไม่ ที่สำคัญจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่าพนักงานธนาคารที่กำลังหายใจไม่ทั่วท้องจากการไหลบ่าเข้ามาของ Digital Banking มากน้อยเพียงใด
“ทีมเศรษฐกิจ” ขอตอบคำถามนี้ผ่านคำชี้แจงของ “สมบูรณ์ จิตเป็นธม”ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย ดังนี้ ;
เริ่มจาก สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายสถาบันการเงิน ซึ่งได้ชี้แจงถึงประกาศ ธปท.ในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้ง “ตัวแทนธนาคารพาณิชย์” หรือ Banking Agent เพื่อดำเนินธุรกรรมการเงินแทนธนาคารนั้นว่า
ประกาศ ธปท.ดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นการประกาศเพิ่มเติมจากประกาศเดิมที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งตัวแทนให้ทำธุรกรรมทางการเงินได้ตั้งแต่ปี 2553 และไม่ใช่การให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่อย่างที่เข้าใจกัน
ที่มาของการขยายประกาศเดิมนั้น เพราะ ธปท.เห็นว่าในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งอาจไม่มีสาขาของธนาคารพาณิชย์ เพราะการเปิดสาขาไม่คุ้มทุน หรือประชาชนยังไม่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือ “สมาร์ทโฟน” มากนัก ดังนั้น บริการทางการเงินในรูปแบบออนไลน์อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ แต่ ธปท.ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง การแต่งตั้ง “ตัวแทน” ขึ้นเพื่อทำงานแทนน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ ประกาศเดิมของ ธปท.นั้น อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์คัดเลือกผู้ที่จะเป็น “ตัวแทนให้บริการของธนาคาร” ด้วยตัวเอง โดยสามารถแต่งตั้งจากธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเอง ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและไปรษณีย์ โดยหากต้องการให้มี “นิติบุคคล” เป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ในการทำธุรกรรมการเงินก็สามารถทำได้ โดยขออนุญาตจาก ธปท.เป็นรายกรณีไป ซึ่งที่ผ่านมามีการขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษจำนวนหนึ่ง
ดังนั้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับธนาคารพาณิชย์ ธปท.จึงได้ขยายประเภทของ “ตัวแทน” หรือ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” ให้ครอบคลุมนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาที่มีความเหมาะสมด้วย และยังอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ธปท.
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนจะต้องมีคุณสมบัติตาม ธปท.กำหนดเช่น 1.จะต้องมีแหล่งที่อยู่ชัดเจน 2.มีฐานะการเงินที่ดีเพียงพอ และมีการสำรองเงินระหว่างธนาคาร และบริษัท 3. มีระบบการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินการที่เหมาะสม 4.มีนโยบายในการดูแลการบริหารจัดการที่ดี 5.ผู้บริหารจะต้องไม่เคยต้องคดีอาญา หรือทำทุจริต เป็นต้น ขณะเดียวกัน ได้ร้องขอให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศชื่อ “ตัวแทน” ให้ประชาชนทราบชัดเจนเพื่อป้องกันการหลอกลวงให้ฝากเงิน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะใช้บริการและลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริตของ “ตัวแทนให้บริการของธนาคารพาณิชย์” ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศชั้นนำของโลก!
สำหรับ “ตัวแทน” ที่ได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารพาณิชย์จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกรรมได้ใน 5 เรื่องคือ 1.เป็นตัวแทนรับฝากเงิน 2.เป็นตัวแทนรับถอนเงิน 3.เป็นตัวแทนการชำระเงิน และชำระบิล 4.เป็นตัวแทนจ่ายเงินให้กับผู้บริการรายย่อย กำหนดวงเงินจ่าย 5,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท และ 5.เป็นตัวแทนจ่ายเงินให้กับผู้บริการรายใหญ่ ตามรายการและวงเงินที่ธนาคารพาณิชย์กำหนด
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์หรือ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” กรณีพิเศษในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่รับชำระบิลเป็นหลักเช่น เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเซเว่น อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส หรือร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ซึ่งการเป็น “ตัวแทน” ในลักษณะนี้เป็นที่คุ้นเคยของประชาชนอยู่แล้ว
ขณะที่ธุรกรรมนอกเหนือจากการชำระบิล ยังมีธนาคารพาณิชย์ได้ขออนุญาต ธปท.ให้เป็นตัวแทนทำธุรกรรมเพิ่มเติมมีจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.ตู้บุญเติม สามารถรับฝากเงินจากตู้เข้าบัญชีธนาคาร โดยเป็นตัวแทนของหลายธนาคาร 2.ตู้เติมสบาย สามารถรับฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร โดยเป็นตัวแทนของหลายธนาคาร
3.แอพพลิเคชั่นแอร์เพย์ สามารถรับฝากเงินได้โดยเป็นตัวแทนของหลายธนาคาร และ 4.เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนการรับเงินจากธนาคารกสิกรไทย โดยผู้รับบริการสามารถรับเงินโอนได้ที่เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งบริการเหล่านี้ ธปท.ให้อนุญาตในการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่ห่างไกลในต่างจังหวัด ซึ่งในอนาคตธนาคารพาณิชย์อาจจะมีการปิดสาขา หรือใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีมาให้บริการทางการเงินมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นการบริการพิเศษ และเป็นทางเลือกจะต้องมี “ค่าธรรมเนียม” ในการรับบริการของ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” ในการรับฝากถอนเงิน จากเดิมที่การฝากถอนผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารจะไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยอัตราค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร
อย่างไรก็ตาม การฝากเงินถอนเงินที่เคาน์เตอร์ปกติยังคงทำได้และประชาชนยังมีช่องทางในการชำระเงินโอนเงินอื่นๆเพิ่มเติมที่ไม่ต้องใช้เงินสด เช่น พร้อมเพย์ หรือการโอนเงินอื่นๆ ที่มีค่าธรรมเนียมไม่สูงมาก
“ต่อจากนี้ไปเราจะเห็นการรับฝากและถอนเงินจากตัวแทนของธนาคารพาณิชย์จากร้านสะดวกซื้อ กองทุนหมู่บ้าน ร้านค้าชุมชน สหกรณ์ ฯลฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น โดยเกณฑ์ใหม่นี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือน มี.ค.นี้”
ขณะที่ ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ให้มุมมองต่อ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” นี้ว่า จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภาพรวม ทั้งลูกค้าปัจจุบันของธนาคารและผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารด้วยช่องทางที่มีอยู่ และสำหรับธนาคารพาณิชย์ถือเป็นการขยายช่องทางการให้บริการที่มีต้นทุนต่ำกว่า และรวดเร็วกว่าการขยายสาขาในรูปแบบปกติ โดยไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
“การขยายช่องทางผ่านเครือข่ายอื่นๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากกว่าและมีเวลาทำการที่ยืดหยุ่นกว่าย่อมอำนวยความสะดวกได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่มีประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้น”
ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวยอมรับว่า พัฒนาด้าน “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” ส่งผลกระทบต่อธนาคารในหลายรูปแบบ ทั้งในด้านการเข้าถึงข้อมูลที่ทำให้เกิดการทำธุรกรรมในรูปแบบ P2P มากขึ้น เช่น การกู้ยืมแบบ Crowd Funding การพัฒนาของเทคโนโลยี เช่น Open API หรือ Blockchain ที่ขยายขอบเขตความสามารถในการให้บริการ และสร้างความปลอดภัยแก่ข้อมูลในเวลาเดียวกัน
ขณะที่ความต้องการของลูกค้า ก็ได้เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีความสำคัญของการให้บริการรอบด้านบน Platform การสร้างประสบการณ์การใช้งานที่สะดวก ครอบคลุมและเชื่อถือได้จะเป็นมาตรฐานในการให้บริการแก่ลูกค้าในยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ จากช่องทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทุกธนาคารมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลและความสามารถในการวิเคราะห์ และคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าล่วงหน้า การใช้ Artificial Intelligence หรือ Machine Learning ทำให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน นอกจากนี้ธนาคารต้องพร้อมที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของหลักเกณฑ์หรือกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อโลกดิจิทัลมากขึ้น
กับความกังวลของหลายภาคส่วนต่อการเข้ามาของ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” และเทรนด์ของโลกดิจิทัลที่ว่าจะส่งผลกระทบต่อพนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์อย่างไรนั้นประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า แม้ “ดิจิทัล” จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการเงิน แต่ยังคงเป็นแค่ “เครื่องมือ” ที่ช่วยเหลือพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
การเข้ามาของ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” จะสามารถลดภาระการให้บริการทั่วไป โดยธนาคารสามารถถ่ายโอนการทำธุรกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่ำไปยังเอเย่นต์ และเปิดโอกาสให้แบงก์หันมาเน้นการให้บริการและทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อนและต้องการความสามารถเฉพาะทาง เช่น การวิเคราะห์สินเชื่อ หรือการให้คำแนะนำด้านการลงทุนแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “โมเดล” การใช้แบงก์กิ้ง เอเย่นต์ จะเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมแก่ผู้ใช้บริการ แต่ธนาคารต้องหาจุดสมดุลในการบริหารจัดการ
มีตัวอย่างของการแต่งตั้ง “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้โมเดลดังกล่าว เช่น การแต่งตั้งบริษัทไปรษณีย์ไทยให้เป็นตัวแทนบริการ “ฝาก ถอน โอน” การให้บริการโอนเงินผ่าน “เคาน์เตอร์ เซอร์วิส” หรือการแต่งตั้งเอเย่นต์ของธนาคารในต่างประเทศ เช่น ธนาคาร FINCA ในประเทศคองโก ซึ่งลูกค้ามากกว่า 75% ทำธุรกรรมผ่านแบงก์เอเย่นต์ และนโยบายของธนาคารแห่งชาติของประเทศมาเลเซียที่แบงก์เอเย่นต์ช่วยเพิ่มการครอบคลุมพื้นที่การให้บริการของธนาคารจาก 46% เป็น 97% ใน 5 ปี
แม้ ธปท.จะไฟเขียวให้ธนาคารพาณิชย์ขยายขอบเขต “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” ข้างต้นจนทำเอาหลายฝ่ายคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา
แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปต่างฟันธงว่า ประกาศ ธปท.ที่ว่าไม่ได้ทำให้บทบาทของธนาคารเปลี่ยนแปลง หรือพลิกโฉมหน้าได้เท่ากับ “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” อื่นๆ เพราะวันนี้แบงก์พาณิชย์ไทยได้ก้าวกระโดดไปไกลแล้วในการให้บริการธุรกรรมทางการเงินบนโลกดิจิทัล
ทุกแบงก์กระโดดสู่ “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” ไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นการก้าวไปไกลกว่า “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” ไปแล้ว เช่นเดียวกับพฤติกรรมประชาชนผู้ใช้บริการที่วันนี้แทบจะก้าวข้าม “แบงก์เอเย่นต์” ที่ว่านี้สู่ “โมบายล์ แบงก์กิ้ง” และ ดิจิทัล แบงก์กิ้ง บนโลกออนไลน์กันไปแล้ว
หากจะให้แบงก์พาณิชย์ ต้องลิงก์ข้อมูลธุรกรรมการเงินไปยังร้านค้า ร้านสะดวกซื้อหรือ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” ที่มากกว่าการให้บริการฝากเงิน ชำระค่าสินค้าหรือค่างวด ย่อม “สุ่มเสี่ยง” ที่อาจโดนไวรัสหรือ “แฮกเกอร์” ล้วงตับเอาได้ทุกเมื่อเพราะไม่สามารถจะ “คอนโทรล” ธุรกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้
“แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” จึงเป็นเพียงช่องทางอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ระบบดิจิทัลอื่นๆ ยังเข้าไม่ถึงเท่านั้น หาได้เข้ามาพลิกโฉมหน้าระบบแบงก์พาณิชย์จนถึงกับทำเอาใครต่อใครผวาทุนใหญ่จะเข้ามา “กินรวบทุกอย่าง” อย่างที่เข้าใจกัน!!!
ทีมเศรษฐกิจ