"คิวอาร์โค้ด" สังคมไร้เงินสด ชำระสินค้าสารพัดบาทเดียวก็จ่ายได้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"คิวอาร์โค้ด" สังคมไร้เงินสด ชำระสินค้าสารพัดบาทเดียวก็จ่ายได้

Date Time: 4 ก.ย. 2560 05:01 น.

Summary

  • พูดถึงกันมากในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในแบบที่ชาวบ้านอย่างเราๆเอง อาจยังตั้งตัวไม่ทัน เมื่อเมืองไทยกำลังก้าวไปสู่ “สังคมไร้เงินสด”

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

พูดถึงกันมากในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในแบบที่ชาวบ้านอย่างเราๆเอง อาจยังตั้งตัวไม่ทัน เมื่อเมืองไทยกำลังก้าวไปสู่ “สังคมไร้เงินสด”

ตาสี ตาสา ได้ยินข่าวจากทีวี หรืออ่านหนังสือพิมพ์เจอก็บอกว่า ภายในปีนี้คนไทยจะสามารถซื้อสินค้าจากหาบเร่ แผงลอย สินค้าออนไลน์ ขึ้นแท็กซี่ ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และจ่ายเงินเริ่มต้นเพียงหนึ่งบาทได้ โดยจ่ายเงินผ่านระบบ “คิวอาร์โค้ดมาตรฐาน” แถมไม่ต้องมานั่งจ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ

คำถามเกิดขึ้นมากมายว่า มันคืออะไร ใช้ยากหรือง่ายเพียงใด เงินสดที่เคยพกอยู่ทุกวันนี้ไม่จำเป็นแล้วหรือ?

บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต ยังต้องมีอยู่หรือไม่ และที่รณรงค์กันมาให้ใช้ระบบพร้อมเพย์ ก็ยังอยู่ในขั้นของการเริ่มต้นเรียนรู้ ยังจะใช้กันต่อไหม มันเกี่ยวข้องดองกันหรือเปล่า

คงต้องบอกว่า ยุคนี้สารพัดเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เราก็ต้องเรียนรู้ตามกันไป เหมือนยุคหนึ่งในปี 2526 ที่คนไทยเริ่มรู้จักบัตรเอทีเอ็ม ที่ช่วยลดความยุ่งยากในการเดินทางไปธนาคารพาณิชย์ และกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปในตอนนี้

นวัตกรรมการเงินที่เข้ามาใหม่จะยิ่งช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นไปอีก ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment จะช่วยทำให้การทำธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำงาน นำไปสู่การยกระดับความสามารถการแข่งขันประเทศ

ชาวบ้านเองไม่ต้องกลัวว่าเงินจะหล่นหาย ไม่ต้องยุ่งยากหาเงินสดไว้จ่าย หมดปัญหาจ่ายแบงก์พันแล้วแท็กซี่ไม่มีทอน และสะดวกในการ “ซื้อ ขาย จ่าย โอน” ค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุน รวมทั้งลดปัญหาการปลอมแปลงบัตรต่างๆ เพราะลูกค้าไม่ต้องให้ “บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต” กับร้านค้า ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ เพื่อไปรูดผ่านเครื่อง ซึ่งอาจจะเสี่ยงกับการถูกคัดลอกข้อมูลจากบัตรอีกต่อไป

ถอดรหัสคิวอาร์โค้ดชำระเงิน

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เปิดตัว “มาตรฐานคิวอาร์โค้ด” (Qr code) กลางของประเทศเพื่อการชำระเงิน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ง่ายขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น และหวังให้เป็น “ช่องทางด่วน” ที่ทำให้เราไปสู่ “สังคมไร้เงินสด” ได้เร็วขึ้นด้วย

“คิวอาร์โค้ด” คืออะไร คิวอาร์โค้ด ย่อมาจาก Quick Response Code ซึ่งเป็น “รหัสเก็บข้อมูล” ประเภทหนึ่งที่ถูกพัฒนามาจากระบบรหัสบาร์โค้ด (barcode) แต่ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เก็บข้อมูลได้มากขึ้น โดยสามารถใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็น “สมาร์ทโฟน” สแกนอ่านคิวอาร์โค้ดได้

ใครที่ใช้แอพพลิเคชั่น “LINE ไลน์” ในโทรศัพท์มือถือ คงคุ้นเคยคิวอาร์โค้ด รหัสรูปสี่เหลี่ยมที่มีไว้แสดงข้อมูลตัวตน บัญชีไลน์ของเรา คนที่ต้องการเป็นเพื่อนกับเรา ใช้มือถือ “สแกน” คิวอาร์โค้ดของเรา ก็เข้ามาเป็นเพื่อนกันได้

“คิวอาร์โค้ด” เพื่อการชำระเงินก็เช่นกัน จะเปรียบเสมือนเป็นรหัส “ตัวแทนข้อมูลส่วนตัวทางการเงิน รวมทั้งบัญชีเงินฝาก” ที่ถูกเก็บไว้ในโค้ดส่วนตัว ซึ่งถือว่าเป็น “โค้ดลับ” ของใครของมัน

หากใครต้องการโอนเงินให้เรา หรือเราต้องการโอนเงิน หรือชำระเงินค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้าร้านไหน สามารถใช้ในการสแกน “คิวอาร์โค้ด” ด้วยโทรศัพท์มือถือ โอนเงินหรือชำระเงินได้ “สแกนปุ๊บ จ่ายปั๊บ” ไม่ต้องควักเงินสด ไม่ต้องถามข้อมูลชื่อเสียงเรียงนาม เบอร์บัญชี หรือแม้แต่เบอร์โทรศัพท์มือถือ

ตอบโจทย์ “ไลฟ์สไตล์” ของคนไทยวันนี้ ซึ่งพกโทรศัพท์มือถือติดตัวกันเป็นประจำ และในปี 2559 คนไทยใช้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้นกว่า 100%

ขณะที่อีกข้อดีของการชำระเงินผ่านการสแกน “คิวอาร์โค้ด” คือ ผู้ใช้สามารถที่จะเลือกชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ และบัญชีอินเตอร์เน็ต หรือโมบายแบงกิ้ง

สแกนปุ๊บ จ่ายปั๊บ รับเงินทันที

ในส่วนของร้านค้าที่ต้องการมีคิวอาร์โค้ดเป็นของตนเอง ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มเปิดให้บริการสร้างคิวอาร์โค้ดส่วนตัวขึ้นมา โดยขอได้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือสามารถสร้างคิวอาร์โค้ด จากบัญชีอินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง หรือสร้างผ่านระบบการพร้อมเพย์ก็ได้

จากนั้นร้านค้าสามารถพิมพ์ “คิวอาร์โค้ด” มาแปะไว้หน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าสแกนจ่ายเงิน ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็อาจทำป้ายแขวนคอมีคิวอาร์โค้ด ส่วนแม่ค้าหาบเร่แผงลอยก็พกคิวอาร์โค้ดติดตัวได้ตามสะดวก

เมื่อลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ดของท่านแล้วจ่ายเงิน เงินก้อนนั้นก็จะเข้าสู่บัญชีธนาคารเจ้าของคิวอาร์โค้ดทันที

ส่วนฝั่งของผู้ใช้บริการ หรือลูกค้า ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงิน จะต้องมี 3 สิ่ง ลำดับแรกเลยต้องมีโทรศัพท์มือถือ ประเภทสมาร์ทโฟนที่สามารถสแกนอ่านคิวอาร์โค้ดได้ ลำดับต่อมา จะต้องมีช่องทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัญชีอินเตอร์เน็ต หรือโมบายแบงกิ้ง บัญชีเงินฝากที่ผูกไว้กับระบบพร้อมเพย์ บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะมีทุกอย่างก็ไม่ผิด

และลำดับที่ 3 คือ “แอพพลิเคชั่น” การโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ หรือแอพพลิเคชั่นที่เป็นกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet

วิธีการจ่ายเงินก็คือ ฝั่งของผู้จ่ายเงินจะเปิดเข้าไปในแอพพลิเคชั่นการชำระเงิน กดรหัสส่วนตัวในลักษณะเดียวกับบัตรเอทีเอ็ม เลือกช่องทางในการจ่าย เช่น จ่ายจากบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเงินสด หรือพร้อมเพย์ ฯลฯ

จากนั้นให้สแกนคิวอาร์โค้ดผู้ที่ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ หรือหาบเร่แผงลอย กดใส่จำนวนเงินที่ต้องการจ่ายและกดตกลง ถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการ และระบบก็จะมีบริการส่งข้อความให้ผู้รับเงินได้ทราบว่ามีการโอนเงินเข้าไปในบัญชีเจ้าของคิวอาร์โค้ดแล้ว

ประโยชน์ของการชำระเงินผ่านระบบ “คิวอาร์โค้ดมาตรฐาน” นอกจากจะสะดวกแล้ว ยังไม่ต้องพกเงินสดและบัตรจำนวนมากให้ยุ่งยาก และช่วยในเรื่องความปลอดภัย

ลดความผิดพลาดทางเทคนิคต่างๆ เช่น กรณีทอนเงินผิด กดเลขบัญชีที่จะโอนเงิน หรือเบอร์โทรศัพท์ผิดที่จะโอนเงินผิด รวมทั้งลดปัญหาการปลอมแปลงบัตรต่างๆได้อีก

ร้านค้าก็จะบริหารจัดการเงินสดได้ดีขึ้น ส่งผลการทำบัญชีและตรวจสอบยอดเงินที่เข้าบัญชีเข้าง่ายกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสด สามารถรู้ว่าได้รับเงินจากใครในแต่ละรายการ ลดต้นทุนได้โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กๆ

ค่าธรรมเนียมร้านค้าถูกลง

สำหรับค่าธรรมเนียมของการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด มี 4 รูปแบบ คือ 1.กรณีชำระผ่านระบบพร้อมเพย์ ทางผู้ชำระเงินต้องเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียม เสมือนการโอนเงินข้ามธนาคาร โดยระบบพร้อมเพย์กำหนดโอนเงินต่อครั้งต่ำกว่า 5,000 บาท ฟรีทุกรายการ โอนเงินมากกว่า 5,000-30,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาท มากกว่า 30,000-100,000 บาท ไม่เกิน 5 บาท และมากกว่า 100,000 บาท ไม่เกิน 10 บาท แต่มีบางธนาคารเปิดให้โอนเงินพร้อมเพย์ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกวงเงิน เช่น ธนาคารทหารไทย

2.ชำระบิลต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ค่างวดรถ ฯลฯ ปกติเวลาไปชำระที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือชำระผ่านธนาคาร ผู้ชำระเงินต้องเสียค่าธรรมเนียม 10-25 บาทต่อรายการ แต่ถ้าชำระผ่านคิวอาร์โค้ด ต้องรอ ธปท.กำหนดค่าธรรมเนียมออกมาก่อน ซึ่งในขณะนี้แจ้งไว้ว่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสม

3.ชำระเงินผ่านบัตรเดบิต ทางร้านค้าเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม ซึ่งปัจจุบันการใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าและบริการ ธปท.กำหนดให้ธนาคาร เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้า 0.55% ของราคาสินค้าหรือบริการ

แต่การชำระเงินคิวอาร์โค้ดผ่านบัตรเดบิต ธนาคารเจ้าของร้านค้าไม่มีความเสี่ยงเรื่องทุจริต ที่ธนาคารต้องรับผิดชอบความเสียหาย และไม่มีต้นทุนในเรื่องการติดตั้งเครื่องรับบัตร (อีดีซี) ดังนั้น ค่าธรรมเนียมที่คิดต้องต่ำกว่า 0.55% และอยู่ระหว่าง ธปท.เป็นผู้กำหนด

4.การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ตามระบบในปัจจุบันนี้ร้านค้าต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม ซึ่งตามปกติร้านค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมรับบัตรเครดิต 1-3% ของราคาสินค้า หรือบริการ เพราะการชำระผ่านบัตรเครดิตมีต้นทุนทางการเงินของธนาคาร เนื่องจากธนาคารเจ้าของบัตรต้องชำระเงินให้กับร้านค้าทันทีที่รูดซื้อสินค้า แต่ผู้ถือบัตรเครดิตมีรอบบัญชีชำระเงินสูงสุด 45 วัน

ส่วนค่าธรรมเนียมชำระเงินผ่านบัตรเครดิตผ่านคิวอาร์โค้ด ทาง ธปท.จะเป็นผู้กำหนดต่อไปซึ่งยืนยันว่าต่ำมาก ฉะนั้น ร้านค้าจะจ่ายลดลงกว่าปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เปิดให้บริการเร็วสุดต้นเดือน พ.ย.นี้ เป็นรูปแบบการชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ และชำระบิลต่างๆ ส่วนบัตรเดบิต และบัตรเครดิต เริ่มเปิดให้บริการต้นปี 2561

ธนาคารพาณิชย์ทดลองใช้จริง

ระบบการจ่ายเงินด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดนี้ ยังอยู่ในขั้นของการ “ทดลอง” การโอนจ่ายเงินข้ามธนาคาร ระหว่างบัญชีผู้ใช้บริการของธนาคารหนึ่งกับการสแกนคิวอาร์โค้ดที่สร้างขึ้นโดยอีกธนาคารหนึ่งยังไม่สมบูรณ์นั้นอาจจะยังไม่สามารถสแกนจ่ายข้ามแบงก์ได้สะดวกมากนัก

ทาง ธปท.คาดว่าจะทำงานได้เต็มระบบในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงของการ “เรียนรู้” ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ทำการทดลองชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดแล้ว

โดยธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวบริการ K PLUS SHOP แหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ สยามสแควร์ ตลาดนัดจตุจักร และเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ประตูน้ำ ซึ่งมีจำนวนร้านค้ารวมกันมากกว่า 10,000 ร้านค้า มีร้านค้าชั้นนำเข้าร่วมกว่า 2,000 ร้านค้า

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ทดลองชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด กับร้านค้าในย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น ตลาดละลายทรัพย์ และตลาดในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ และขอนแก่น ตลอดจนการชำระค่าโดยสารรถสาธารณะ เช่น สมาร์ทแท็กซี่ การชำระค่าส่งสินค้าออนไลน์ต่างๆ และชำระค่าส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่

จากนั้นในเดือน พ.ย.นี้ จะเริ่มขยายบริการไปยังร้านค้าต่างๆ ในวงกว้างขึ้นทั่วประเทศ

ธนาคารไทยพาณิชย์ ทดลองชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่ตลาดนัดจตุจักร และวินรถมอเตอร์ไซค์ ซอยพหลโยธิน 34 ขณะที่ธนาคารกรุงไทย ทดลองชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่ห้องอาหารสวัสดิการพนักงาน สำนักงานใหญ่ ซอยนานา และวันที่ 10 ก.ย.นี้ นำไปทดลองที่โรงอาหาร กระทรวงการคลัง

เทคโนโลยีช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องศึกษาหาความรู้ควบคู่ไปด้วย เช่น เรื่องของความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อโทรศัพท์มือถือเริ่มทำได้ “ทุกสิ่ง” การรักษาความลับในการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการปกปิด “รหัสลับ” ต่างๆ ไม่ให้คนอื่นรู้

ที่สำคัญกว่านั้น ยิ่งการจ่ายเงินง่ายมากขึ้นเท่าไร ยิ่งต้องยึด “สติ” ไว้ให้มั่น

อย่า “สแกนปุ๊บ จ่ายปั๊บ” แบบไม่คิด เดี๋ยวเงินจะหมดบัญชีแบบไม่รู้ตัว แถมยังจะมีหนี้สินเพิ่ม เดี๋ยวจะหาว่า “ทีมเศรษฐกิจ” ไม่เตือน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ