เปิดตลาดของสะสม อะไรน่าลงทุน ทำเงินได้ในอนาคต

Investment

Wealth Management

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดตลาดของสะสม อะไรน่าลงทุน ทำเงินได้ในอนาคต

Date Time: 2 มี.ค. 2567 14:33 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การหาช่องทางการลงทุนเพิ่มความมั่งคั่งให้ตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญมากขึ้น Thairath Money พาเปิดตลาดของสะสมจากทั่วโลก อะไรน่าลง มีแนวโน้มทำเงินได้ในอนาคต

Latest


ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การหาช่องทางการลงทุนเพิ่มความมั่งคั่งให้ตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญมากขึ้น แม้เศรษฐกิจจะผันผวน และชะลอตัวลงจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ยังมีตลาดการลงทุนทางเลือกที่เติบโตสวนทางเทรนด์โลก นั่นก็คือ "ตลาดของสะสม" ซึ่งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสร้างรายได้ให้กับผู้สะสมเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของแพลตฟอร์ม e-commerce และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

Thairath Money พาเปิดตลาดของสะสมจากทั่วโลก อะไรน่าลงทุน มีแนวโน้มทำเงินได้ในอนาคต

1. ของเล่น


เมื่อพูดถึง “ของเล่น” ถ้าในอดีต คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นความบันเทิง ที่มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น แต่ปัจจุบันความนิยมของตลาดของเล่นได้ขยายไปถึงกลุ่มวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ที่ยังมีหัวใจเป็นเด็ก จากประโยชน์ที่มีไว้เพื่อความบันเทิง หรือสะสมไว้ตามความชอบ การเข้ามาของคนหลายกลุ่ม ได้ผลักดันให้ภูมิทัศน์ ตลาดเปลี่ยนไป กลายเป็นตลาดการลงทุนทางเลือกที่ให้ผลตอบที่ดีได้

ปัจจุบันตลาดของเล่น มีมูลค่าอยู่ที่ 12,453 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 และคาดว่ามูลค่าจะเติบโตขึ้นเป็น 35,355 ล้านดอลลาร์ ในปี 2575

ตั้งแต่โควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์จำกัดไม่ให้คนเดินทาง การอยู่เฉยๆ ในบ้าน ทำให้หลายคนมีเวลากลับมาถวิลหาอดีตวัยเด็กของตัวเอง ของเล่น Vintage จึงได้รับความนิยมมากขึ้น จนราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้หลังโควิดคนก็ยังสนใจสะสมของเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ราคาของเล่น Vintage ยังอยู่ในระดับสูง 

นอกจากนี้การที่ศิลปินเข้ามามีส่วนร่วมในการดีไซน์และขายของเล่นที่เป็น limited edition ของตัวเอง ยังช่วยกระตุ้นยอดขายในตลาดและดึงดูดคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ให้แก่นักสะสมในตลาด

เช่น ตุ๊กตาฟิกเกอร์ KAWS ‘Pink ‘BFF’ คาแรกเตอร์ Companion สีชมพูใส่สูท Dior ของ Brian Donnell ที่คนแย่งกันเป็นเจ้าของ จนมีราคาประมูลสูงถึง 4 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 143 ล้านบาท เมื่อปี 2559 

2. การ์ดสะสม


ใครจะไปคิดว่าการ์ดสะสม เช่น การ์ดคาแรกเตอร์การ์ตูนที่เราได้เป็นของแถมตอนเด็ก จะกลายเป็นของที่มีมูลค่า ทำเงินให้กับเราได้ แต่การ์ดสะสมไม่ได้มีแค่การ์ดการ์ตูนเท่านั้น แต่ยังมีการ์ดเกม การ์ดกีฬา การ์ดรูปคนดัง และการ์ดอื่นๆ โดยประเภทการ์ดที่ไดรับความนิยมมากที่สุด และมีมูลค่าสูงสุด คือการ์ดกีฬา ที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในปี 2574

ปัจจุบันตลาดการ์ดสะสม มีมูลค่าอยู่ที่ 1,559 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 และคาดว่ามูลค่าจะเติบโตขึ้นเป็น 2,261 ล้านดอลลาร์ ในปี 2574

ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนคนรุ่น Millennials ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีกำลังซื้อสูงทั่วโลก จะช่วยผลักดันการเติบโตของตลาด โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จะกลายเป็นตลาดหลักในอนาคต เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่คนกลุ่มนี้ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ในจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศ ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกสองอันดับแรก จะเป็นตลาดสำคัญ สำหรับธุรกิจการ์ดกีฬา และการ์ดเกม โดยได้รับอานิงส์ จากความนิยมเกมออนไลน์บนเว็บไซต์ โดยในปี 2565 ตลาดเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งทางการตลาดครึ่งหนึ่งของตลาดการ์ดสะสมทั่วโลก

นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จะช่วยดันยอดจำนวน การเข้าชมเว็บไซต์ นำมาสู่การผลักดันการเติบโตของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ


3. ของที่ระลึกกีฬา


เป็นที่รู้กันดีว่ากีฬาเป็นตลาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทั้งด้านมูลค่าและจำนวนแฟนกีฬาที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่จะมีการประมูลของที่ระลึกกีฬา จนราคาจับต้องไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของมูลค่าทางจิตใจ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม Baby Boomers และการเข้ามาของคนรุ่น Millennails ในตลาด ได้ผลักดันให้ราคาของที่ระลึกเกี่ยวกับกีฬา เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะของที่ใช้ในการเล่นกีฬา เช่น ลูกบอลและเสื้อแข่ง รวมถึงการ์ดกีฬาเบสบอล มีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 เว็บไซต์ประมูลสินค้า เช่น eBay และ Auction of Champions มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ตลาดมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ปัจจุบันตลาดของที่ระลึกกีฬา มีมูลค่าอยู่ที่ 26,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 และคาดว่ามูลค่าจะเติบโตขึ้นเป็น 227,000  ล้านดอลลาร์ ในปี 2574

นอกจากนี้ การเข้ามาของ NFT ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของระลึกกีฬาให้มีความพิเศษมากขึ้น เนื่องจากการนำของที่ระลึกกีฬา มาอยู่ในรูปเหรียญดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว จะทำให้ของชิ้นนั้นเป็นต้นฉบับที่มีเพียงชิ้นเดียว ไม่สามารถคัดลอก หรือทำซ้ำได้ เพราะมีการยืนยันกรรมสิทธิ์ผ่านระบบ Blockchain ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้แฟนกีฬา รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และใกล้ชิด กับนักกีฬาขวัญใจมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักสะสมหน้าใหม่ จากวงการสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เข้ามาเก็งกำไรในตลาด ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน

ความนิยมของ NFT ยังกระตุ้นให้สโมสรกีฬาชื่อดังระดับโลกหลายเจ้า เข้ามาคว้าโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม ด้วยการทำคอกเลกชันนักกีฬาในสังกัด เช่น สโมสรฟุตบอลยูเวนตุส และบาร์เซโลนา

4. Action figure


ในยุคที่ Pop Culture แทรกซึมไปกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ได้แปรเปลี่ยนความความชอบ ให้กลายเป็นความผูกพันที่สะท้อนจุดยืนและคุณค่าในตัวผู้เล่น Action figure คือหนึ่งในไอเท็มที่เป็นตัวแทนแสดงถึงความชอบ ความหลงไหลที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดย Action figure คือ ฟิกเกอร์ซึ่งจำลองตัวบุคคลที่มีชื่อเสียง ตัวละครจากหนังหรือการ์ตูน ที่สามารถขยับเพื่อเปลี่ยนท่าทางได้


ปัจจุบันตลาด Action figure มีมูลค่าอยู่ที่ 9,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 และคาดว่ามูลค่าจะเติบโตขึ้นเป็น 15,300 ล้านดอลลาร์ ในปี 2574


โดยตลาดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ได้รับความนิยมระดับโลก จากความสามารถการทำกำไรที่สูง เนื่องจากราคาขายปลีกเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณสองเท่าของราคาขายส่ง โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงหนุนจากฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ และรายได้เหลือใช้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเด็ก ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย คาดว่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการในตลาด

5.ลายเซ็น

ลายเซ็น ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของทุกประเภท โดยเฉพาะลายเซ็นของบุคคลชื่อดังระดับโลก ที่แฟนคลับพากันประมูลแย่งชิงความเป็นเจ้าของจนดันราคาพุ่งทะลุเพดาน ทั้งนี้มีการคาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 6.3% ต่อปี

สิ่งที่กระตุ้นความต้องการในตลาดลายเซ็น มีได้หลายปัจจัย เช่น ความหายาก และความพิเศษของการได้มาซึ่งลายเซ็น โดยเฉพาะลายเซ็นของคนดังที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบุคคลที่หาตัวจับได้ยาก เช่น นักแสดงฮอลลีวูดบางคนที่ไม่ค่อยปรากฎตัวต่อสาธารณะ

ลายเซ็นเหล่านี้จึงเป็นที่ต้องการมากในตลาด และมีราคาแพง อีกทั้งการเข้ามาของโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์ม e-commerce ที่เปิดโอกาสให้แฟนคลับและเหล่าคนดังใกล้ชิดกันมากขึ้น ผ่านการแจกลายเซ็นออนไลน์ เช่น การวิดีโอคอล จะช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ กระตุ้นให้คนอยากเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ของสะสมที่มีลายเซ็นนักกีฬา ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดัน การเติบโตของตลาด เนื่องจากสามารถดึงดูดทั้งแฟนกีฬาและนักสะสมของหายาก

โดยมีความพิเศษ คือ ความความหายากและการได้รับการยืนยันลิขสิทธิ์แท้ ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ครอบครอง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์