หุ้นTOP ร่วงหนักรอบ 5 ปี กัดฟันเพิ่มเงินลงทุน CFP  6.3 หมื่นล้าน ดันมูลค่าทะลุ 2.4 แสนล้าน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หุ้นTOP ร่วงหนักรอบ 5 ปี กัดฟันเพิ่มเงินลงทุน CFP 6.3 หมื่นล้าน ดันมูลค่าทะลุ 2.4 แสนล้าน

Date Time: 20 ธ.ค. 2567 10:58 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • หุ้น TOP ร่วง 14.29% เหลือ 30 บาท ต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากแรงกดดันเพิ่มงบโครงการ Clean Fuel Project อีก 63,028 ล้านบาท หลังล่าช้าจากปัญหาการก่อสร้าง

Latest


ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ปรับตัวลดลงรุงแรงในช่วงเช้าวันนี้ โดยราคาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 30 บาท ลดลง 14.29% โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี แรงกดดันในการแก้ไขปัญหาโครงการ ลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) โดยต้องใส่เงินเพิ่มขึ้นอีก  63,028 ล้านบาท หลังจากมีปัญหาในการก่อสร้างอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา 


นายบัณฑิต ธรรมประจาจิต)ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะกรรมการบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)  ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้มีมติที่สำคัญ ดังนี้


 1. อนุมัติให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ของบริษัทฯ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) (“โครงการ CFP”) จำนวนประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินลงทุนเพิ่มเติมดังกล่าวจะนำไปใช้เพื่อการก่อสร้างโครงการ การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ส่วนที่เหลือ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ เช่น ค่าที่ปรึกษาต่างๆ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จ


 และสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการและเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ให้เข้าลงทุนในโครงการ CFP โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,279 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท โดยคาดว่าการก่อสร้างโครงการ CFP จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2566


 โดยบริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาสำหรับการออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction) (“สัญญา EPC”) กับผู้รับเหมาซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง PSS Netherlands B.V. สำหรับงานออกแบบวิศวกรรมและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในต่างประเทศ และ unincorporated joint venture of Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. and Saipem Singapore Pte. Ltd. สำหรับงานก่อสร้างและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในประเทศไทย (เรียกรวมกันว่า “ผู้รับเหมาหลัก”)


 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโครงการ CFP ตั้งแต่ช่วงเริ่มงานในขั้นตอนการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร รวมถึงการก่อสร้างในพื้นที่ที่ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อผลักดันให้โครงการ CFP เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว จึงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการเพิ่มขึ้น และทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างโครงการ CFP ต้องถูกขยายออกไปจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 


ด้วยเหตุดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2564 จึงได้พิจารณาอนุมัติการขยายกรอบวงเงินประมาณการดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างของโครงการ CFP จาก 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นอีก 422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,278 ล้านบาท และในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 4/2565 ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการ CFP และอนุมัติให้บริษัทฯ ลงนามในสัญญาแก้ไขสัญญา EPC กับผู้รับเหมาหลัก โดยเพิ่มงบประมาณของโครงการอีกประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,165 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการไปอีก 24 เดือน ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการ CFP ต่อไปให้แล้วเสร็จ 


ปัจจุบันหน่วยกำจัดกำมะถันในน้ำมันดีเซลที่ 4 (Hydrodesulfurization Unit: HDS-4) ได้ประสบความสำเร็จในการทดลองเดินเครื่องจักรและผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทันต่อการตอบสนองต่อนโยบายการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ภาครัฐมีการประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดีจากเหตุการณ์ที่ผู้รับเหมาหลักไม่ชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วงที่ผู้รับเหมาหลักจ้างให้ทำงานในการก่อสร้างโครงการ CFP จนทำให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานหรือลดจำนวนคนงานลงส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC จากเหตุการณ์ดังกล่าว 


ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ นัดพิเศษ ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า (1) ถ้าบริษัทฯ สามารถดำเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะทำให้บริษัทฯ มีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ที่มีขนาดกำลังการกลั่นสูงทดแทนหน่วยกลั่นเดิม ส่งผลให้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) อีกทั้งด้วยการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบที่มีความหลากหลาย 

รวมทั้งน้ำมันดิบชนิดหนักที่โดยทั่วไปมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบชนิดอื่น ทำให้สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ได้ในการเติบโตในธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทฯ และสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในธุรกิจการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว


 (2) หากไม่อนุมัติให้มีการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP เพื่อก่อสร้างโครงการ CFP ต่อไปให้แล้วเสร็จจะทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการ CFP ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งในระยะยาวบริษัทฯ อาจประสบปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการผลิตของหน่วยกลั่นที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งบางหน่วยมีอายุการใช้งานมากกว่า 60 ปี และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ หากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีของหน่วยผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมของบริษัทฯ ในอนาคต จากเหตุการณ์ที่ผู้รับเหมาหลักไม่ชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วงที่ผู้รับเหมาหลักจ้างให้ทำงานในการก่อสร้างโครงการ CFP จนทำให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานหรือลดจำนวนคนงานลงส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC บริษัทฯ จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ โดยมีการเตรียมความพร้อมโดยให้ที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisor) มาตรวจสอบและวิเคราะห์การก่อสร้างที่เหลืออยู่ของโครงการ จากรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์ของที่ปรึกษาด้านเทคนิค 


เห็นว่าการที่จะก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้พิจารณาคำแนะนำและความเห็นของที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisor) บริษัท ลิงค์เลเทอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Polaris Advisory Asia Private Limited ในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (Legal Advisors) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาการเงินอิสระ (Independent Financial Advisor) แล้วเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้แก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจในการทำธุรกรรมที่มีนัยสำคัญของบริษัทฯ 


คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติอนุมัติให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP เป็นจำนวนเงินประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 


โดยมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ CFP เป็นจำนวนเงินประมาณ 241,472 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 7,151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 37,216 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพิจารณาอนุมัติการมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริษัทฯ หรือบุคคลที่คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมายเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการเจรจา กำหนด ตกลง ทำให้เสร็จสมบูรณ์ ลงนามในสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการ ขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการ CFP หรือการกระทำการอื่นใดตามความเหมาะสมและจำเป็นเพื่อให้การดำเนินโครงการ CFP แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ