นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ชี้ให้เห็นว่า ตลาดหุ้นไทยส่อแววเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง หลังบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท ลดลงถึง 32% เมื่อเทียบกับปีก่อน และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ถึง 20%
ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับฐานของดัชนีหุ้นไทยในระยะถัดไป แม้จะมีแรงหนุนจากกองทุนวายุภักษ์ที่ช่วยพยุงดัชนีอยู่บ้าง แต่ผลตอบแทนหุ้นหลายตัวยังติดลบ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ล่าสุดเตรียมนำโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้
ฝ่ายวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาสที่ 3/67 ออกมา 191,811 ล้านบาท ลดลง 25% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 255,013 ล้านบาท และลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 281,058 ล้านบาท
นอกจากนี้ กำไรที่ออกมายังต่ำกว่าที่ BLOOMBERG CONSENSUS คาดเกือบ 20% ทำให้ในช่วงนี้น่าจะเห็นการทยอยปรับประมาณการกำไรปี 2567 และ 2568 ลงกดดันดัชนีอีกระยะหนึ่งได้
แม้เม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านบาท เข้ามาช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย หนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยทรงตัวที่ 1442 จุด (-0.18%) และ SET100 บวกเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2009 จุด (+0.49%) แต่หากพิจารณาผลตอบแทนหุ้นใน SET100 ออกเป็นรายบริษัท พบว่ามีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ติดลบแรงถึง -7.8% ต่ำกว่าดัชนี SET100 ที่ +0.49%
อีกทั้งยังมีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเพียง 21 จาก 100 บริษัทเท่านั้น แสดงให้เห็นการขึ้นของดัชนี SET100 เป็นการถูกผลักดันด้วยการกระจุกตัวอยู่เพียงหุ้นบางกลุ่มเท่านั้น เช่น DELTA ที่ใน 1 เดือนครึ่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 52.8% หนุนดัชนี SET100 3.9%
ซึ่งเม็ดเงินที่เข้ามาช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยถูกกระจุกตัวอยู่ในบางหุ้นและบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้หากมีปัจจัยต่างๆ เข้ามากดดันตลาด หรือเม็ดเงินที่ไหลเข้าเริ่มจำกัด อาจเห็นการปรับฐานตามมาได้
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยนั้น มีความคืบหน้าการแจกเงินดิจิทัลเฟส 2 ล่าสุดรัฐบาลเตรียมนำนโยบายดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ครม. 19 พฤศจิกายนนี้ โดยจะเป็นการรับเงินสดก้อนเดียว 10,000 บาท ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมเงินไว้แล้ว 1.8 แสนล้านบาท
ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินนั้น คาดว่าจะมีช่วงอายุ 50 ปีหรือ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมองว่ากลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเหมาะสม เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีความสามารถในการหารายได้ที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่น
ประเด็นดังกล่าว รมช.คลัง คาดจะเป็นตัวชูโรงให้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 จะอยู่ที่ระดับ 4.3-4.4% เสริมด้วยการอัดฉีดหลายมาตรการกระตุ้นที่เตรียมไว้ในช่วงปลายปี
ส่วนหุ้นที่คาดจะได้ประโยชน์และได้ Sentiment เชิงบวก คือ
• กลุ่มเกษตร-อาหาร ได้แก่ CPF, CBG, OSP, ICHI, M
• กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL, CRC, BJC, CPAXT
• กลุ่มเช่าซื้อ ได้แก่ MTC, SAWAD
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้