EA เปิดแผนใช้หนี้ 1.95 หมื่นล้าน มีรายได้จากโรงไฟฟ้า-กู้แบงก์-ออกหุ้นกู้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

EA เปิดแผนใช้หนี้ 1.95 หมื่นล้าน มีรายได้จากโรงไฟฟ้า-กู้แบงก์-ออกหุ้นกู้

Date Time: 17 ก.ค. 2567 09:00 น.

Summary

  • EA เปิดมูลหนี้ที่ครบกำหนดต้องจ่ายภายในปีนี้รวม 1.95 หมื่นล้าน ชำระไปแล้ว 3,000 ล้านบาท เผยแผนชำระหนี้ 3 แนวทาง ตั้งแต่รายได้ประจำจากโรงไฟฟ้า–กู้แบงก์เพิ่ม 6 พันล้าน และออกหุ้นกู้ใหม่โรลโอเวอร์หุ้นกู้เดิม ยอมรับ TRIS หั่นเรตติ้ง กดดันการกู้เงินและการหุ้นกู้ ยันธุรกิจยังแข็งแกร่ง มั่นใจอดีตปลัดคลัง “สมใจนึก” กู้ความเชื่อมั่นได้

Latest

สัญญาณไม่ดี? บจ. กำไรไตรมาส 3 แย่กว่าคาด อาจกดหุ้นไทยผันผวน จับตา “กลุ่มบริโภค” ช่วยพยุงตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษบุคคล 3 ราย คือ นายสมโภชน์ อาหุนัย นายอมร ทรัพย์ทวีกุล ซึ่งเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA รวมทั้งนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2567 กรณีร่วมกระทำการทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นั้น

ปรากฏว่าการซื้อขายหุ้น EA เมื่อวันที่ 16 ก.ค.67 ทันทีที่เปิดตลาดราคารูดลงติดฟลอร์ และนอนนิ่งที่ฟลอร์ตลอดทั้งวัน หลัง EA เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามที่ตลาดฯได้ให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบฐานะทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากภาระหนี้สิน โดยเฉพาะเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชําระภายในปี 67 และแนวทางที่ชัดเจนในการชําระหนี้ รวมทั้งผลกระทบต่อการบริหารจัดการกิจการของบริษัท สืบเนื่องจากการพ้นจากตำแหน่งของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารจากกรณีการกล่าวโทษโดยสำนักงาน ก.ล.ต.

โดย EA ได้ชี้แจงประเด็นต่างๆระบุ สิ้นเดือน มี.ค.67 บริษัทมีหนี้สิน เงินต้นที่จะครบกำหนดชําระภายในปี 67 จำนวน 19,505 ล้านบาท โดยได้มีการจ่ายชำระช่วงไตรมาส 2 ปี 67 ไปแล้ว 3,017 ล้านบาท มียอดคงเหลือ 16,488 ล้านบาท โดยมูลหนี้ดังกล่าวแบ่งเป็น 3 รายการ ดังนี้

1.เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินและตั๋วแลกเงินระยะสั้น จำนวน 8,354 ล้านบาท มีการจ่ายชำระช่วง ไตรมาส 2 ปี 67 แล้ว 210 ล้านบาท ยอดคงเหลือ 8,144 ล้านบาท 2.เงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถึงกำหนดชําระภายใน 1 ปี จำนวน 5,659 ล้านบาท ชำระไปแล้ว 2,807 ล้านบาทเหลือ 2,852 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯก่อนหน้านี้ (ยอดรวมดอกเบี้ยแล้ว เท่ากับ 3,200 ล้านบาท) 3.หุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชําระภายใน 1 ปี จำนวน 5,492 ตามที่แจ้งตลาดฯ ก่อนหน้านี้ (5,500 ล้านบาท) ยังไม่มีการชำระ

สําหรับภาระหนี้สินที่จะต้องชําระในวันที่ 31 ธ.ค.67 ที่บริษัทได้ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ไปก่อนหน้านั้น เป็นในส่วนภาระหนี้ระยะยาว รวมทั้งหุ้นกู้ โดยพิจารณาจากประมาณการเงินกู้ระยะยาวรวมดอกเบี้ยที่ต้องชําระคืน 3,200 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชําระอีก 5,500 ล้านบาท ซึ่งจะต้องชําระตั้งแต่วันที่ชี้แจง จนถึง 31 ธ.ค.67

ส่วนที่เหลือเป็นวงเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินหลายแห่ง ณ สิ้นไตรมาส 1 มีอยู่ที่ 8,354 ล้านบาท โดยเบื้องต้นบริษัทไม่ได้ชี้แจง เนื่องจากปกติบริษัทจะทําการ Roll Over (ขอกู้ยืมเงินต่อ) เงินกู้ระยะสั้นในส่วนนี้อยู่แล้ว

สำหรับแนวทางชำระหนี้ เดิมตั้งใจที่จะ Roll Over เงินกู้ระยะสั้น ตามที่เคยปฏิบัติมาทั้งหมด และมีแผนที่จะชําระเงินกู้และหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในปี 67 ดังนี้ 1.ไตรมาส 1 บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินกิจการ 1,900 ล้านบาท และจะมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมทุกเดือนประมาณ 1,000 ล้านบาท 2.วงเงินกู้จากสถาบันการเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นสุดท้ายของสถาบันการเงิน 3.หุ้นกู้ที่จะออกเพิ่มเติมในปี 67 จำนวนและวันเสนอขายอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้รับประกันการจัดจำหน่าย โดยบริษัทคาดว่าจะเป็นหุ้นกู้อายุ 1 ปีและ 3 ปี

ส่วนกรณีที่บริษัทได้รับการแจ้งจากบริษัท ทริสเรทติ้ง (TRIS Rating) ว่าได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ใหม่ที่จะออกเสนอขายตามแผนเดิมนั้น ขอย้ำว่าบริษัทยังมีรายได้จากโรงไฟฟ้าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกระแสเงินสดหลัก และยังอยู่ระหว่างการคัดเลือกพันธมิตร (Strategic Partners) เข้ามาร่วมลงทุน

ขณะที่ผลกระทบต่อการบริหารจัดการบริษัท กรณีนายสมโภชน์ อาหุนัย (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล (ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน) ซึ่งดูแลรับผิดชอบงานสำคัญ พ้นจากตำแหน่งนั้น จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคณะผู้บริหารและทีมงานยังคงเป็นชุดเดิม โดยบริษัทได้แต่งตั้งนายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งมีประสบการณ์น่าเชื่อถือ รวมถึงกำหนดทิศทางกลยุทธ์เพื่อนำบริษัทก้าวผ่านวิกฤติได้ ส่วนนายวสุ กลมเกลี้ยง ในฐานะรักษาการประธานเจ้าหน้าที่การเงิน มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการเงิน การลงทุน เป็นอดีตผู้บริหารธนาคารพาณิชย์.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ