SABUY ถูกฟอร์ซเซล SBNEXT-AS เหลือถือต่ำ 10% จับตา ก.ล.ต. จี้ SBNEXT โชว์พอร์ต ภายใน 10 ก.ค.นี้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

SABUY ถูกฟอร์ซเซล SBNEXT-AS เหลือถือต่ำ 10% จับตา ก.ล.ต. จี้ SBNEXT โชว์พอร์ต ภายใน 10 ก.ค.นี้

Date Time: 5 ก.ค. 2567 10:39 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • SABUY แจ้งถูกฟอร์ซเซล หุ้น SBNEXT และหุ้น AS ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละบริษัทเหลือถือต่ำกว่า 10% ด้านสำนักงาน ก.ล.ต. สั่ง SBNEXT ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 จับตากรณีการนำเงินกู้ยืมจาก SABUY ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปลงทุนในหลักทรัพย์

Latest


บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY แจ้งสำนักงาน ก.ล.ต. ถูกบังคับขาย (ฟอร์ซเซล) หุ้น SBNEXT และหุ้น AS ในระหว่างช่วงวันที่ 17 มิถุนายน ถึง 28 มิถุนายน 2567 ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละบริษัทเหลือถือต่ำกว่า 10%


ด้าน สำนักงาน ก.ล.ต. สั่ง SBNEXT ชี้แจงข้อมูลกรณีไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันและการลงทุนในหลักทรัพย์ ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 โดยตั้งคำถาม 3 ประเด็น กรณีการกู้ยืมเงินและการนำสินทรัพย์ของ SBNEXT ไปค้ำประกัน, กรณีการนำเงินกู้ยืมไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ และกรณีผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น


โดย บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY แจ้งแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานการจำหน่าย โดยเป็นการถูกบังคับขายหุ้นของ บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SBNEXT และหุ้น บริษัท แอสเฟียร์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น AS ในช่วงวันที่ 17 มิถุนายน ถึง 28 มิถุนายน 2567


ทั้งนี้ หุ้น SBNEXT ถูกบังคับขายในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 จำนวน 10.92 ล้านหุ้น หรือ 1.80% และวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ถูกบังคับขาย จำนวน 43.41 ล้านหุ้น หรือ 7.18% ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ถูกบังคับขายอีกจำนวน 26.01 ล้านหุ้น หรือ 4.3047% ทำให้ปัจจุบันเหลือถือ 34.86 ล้านหุ้น หรือ 5.76% จากเดิม 131.09 ล้านหุ้น หรือ 21.69%


ขณะที่หุ้น AS ถูกบังคับขายในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 จำนวน 25 ล้านหุ้น หรือ 5.00% ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ถูกบังคับขาย 23 ล้านหุ้น หรือ 4.60% และวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ถูกบังคับขาย 11.78 ล้านหุ้น หรือ 2.35% ทำให้ปัจจุบันเหลือถือ 49.77 ล้านหุ้น หรือ 9.96% จากเดิม 109.55 ล้านหุ้น หรือ 21.94%


ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วานนี้ สั่งการให้ SBNEXT และคณะกรรมการของบริษัท ชี้แจงข้อมูลกรณีไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันและการลงทุนในหลักทรัพย์


โดยให้ SBNEXT ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เกี่ยวกับกรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินไตรมาส 1/67 เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญของการดำเนินงานต่อเนื่อง


โดย SBNEXT ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันกรณีการกู้ยืมเงิน และนำสินทรัพย์ของบริษัทไปค้ำประกันให้กลุ่มบริษัท SABUY ผู้ถือหุ้นใหญ่ 24.92% รวมทั้ง SBNEXT ได้นำเงินกู้ยืมไปลงทุนในหลักทรัพย์ 


ตามที่ SBNEXT ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ระบบ SETLink) เมื่อวันที่ 14 และ 21 มิถุนายน 2567 เพื่อชี้แจงข้อสอบถามของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับกรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินไตรมาส 1/67 โดยได้ชี้แจงถึง


(1) การแก้ปัญหาสภาพคล่อง


(2) การกู้ยืมเงินและการนำสินทรัพย์ไปค้ำประกันให้กลุ่มบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SABUY) ผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 24.92% การลงทุนในหลักทรัพย์และหุ้น SABUY และการไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน


(3) นโยบายการพิจารณาลงทุนและวัตถุประสงค์การลงทุนในตราสารทุน การบริหารความเสี่ยงและติดตามผลตอบแทนจากการลงทุนสัดส่วน แหล่งเงินทุน ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ


(4) นโยบายการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสาเหตุการเพิ่มขึ้นของรายการดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งแนวทางการติดตามหนี้


(5) หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากคดีความ


และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขอให้ SBNEXT ดำเนินการให้บริษัทมีระบบควบคุมภายในที่เพียงพอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายที่ได้กำหนดไว้นั้น


ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้างต้นถือเป็นข้อมูลที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์ หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ให้ SBNEXT และคณะกรรมการของบริษัท ชี้แจงข้อมูลดังต่อไปนี้


(1) กรณี SBNEXT ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกัน กรณีการกู้ยืมเงินจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกันและการนำสินทรัพย์ของ SBNEXT ไปค้ำประกันให้บุคคลที่เกี่ยวโยงกันนั้น มีรายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอย่างไร และมีใครเป็นผู้พิจารณาอนุมัติรายการ และหลักประกันเงินกู้ยืมมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการดำเนินการแก้ไขรายการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกัน


(2) การนำเงินกู้ยืมจาก SABUY สถาบันการเงิน และบุคคลอื่น ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงิน โดยนำไปลงทุนในหลักทรัพย์นั้น มีการลงทุนในหลักทรัพย์ใดบ้าง และแต่ละครั้งมีการปฏิบัติตามนโยบายลงทุน หลักเกณฑ์และขั้นตอนการลงทุน อำนาจการตัดสินใจลงทุน และวัตถุประสงค์การเข้าลงทุนหรือไม่ และมีใครเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ รวมถึงกรณีที่เกิดผลขาดทุนในหลักทรัพย์ที่ลงทุน SBNEXT มีการปฏิบัติตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดไว้หรือไม่


(3) การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของผลขาดทุนด้านเครดิต มีนโยบาย กระบวนการและขั้นตอน และอำนาจอนุมัติในการตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญอย่างไร และมีการปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายหรือไม่


ทั้งนี้ ให้ SBNEXT ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. พร้อมกับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 และเผยแพร่คำชี้แจงดังกล่าวผ่านระบบ SETLink 


อนึ่ง ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการติดตามและตรวจสอบในกรณีนี้ และหากพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์