ก.ล.ต.จับตา ZCOM เลิกบัญชีมาร์จิ้น ประชุมผู้บริหารใกล้ชิด ย้ำต้องดูแลลูกค้า เชื่อไม่กระทบตลาดหุ้น

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ก.ล.ต.จับตา ZCOM เลิกบัญชีมาร์จิ้น ประชุมผู้บริหารใกล้ชิด ย้ำต้องดูแลลูกค้า เชื่อไม่กระทบตลาดหุ้น

Date Time: 18 มิ.ย. 2567 13:39 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • - ก.ล.ต.เกาะติดปัญหา ZCOM ประกาศเลิกบัญชีมาร์จิ้น ใกล้ชิด
  • - ชี้ บล.ต้องมีมาตรการช่วยดูแลช่วงเปลี่ยนผ่าน มั่นใจไม่เกิดผลกระทบในภาพรวม

Latest


ถูกจับตาอย่างมากสำหรับประเด็นที่ บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกาศเลิกให้บริการบัญชีมาร์จิ้นภายในสิ้นปีนี้ พร้อมให้ลูกค้าย้ายโบรกเกอร์ หรือให้นำเงินมาชำระหนี้กับบริษัท โดยเรื่องดังกล่าวกลายเป็นความเสี่ยงครั้งใหม่ในตลาดหุ้น เพราะหากลูกค้าไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนได้ทันก็อาจทำให้เกิดการบังคับขายในตลาดหุ้นได้


โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต ยอมรับว่า อยู่ระหว่างการติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบลูกค้า และในขณะเดียวกัน ได้กำชับให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องมีมาตรการช่วยดูแลช่วงเปลี่ยนผ่าน


คุณเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยกับ Thairath Money ว่า สำหรับกรณี บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บล. GMOZ) นั้น ก.ล.ต.ได้ติดตามสถานการณ์และสื่อสารกับ บล. โดยมีการประชุมกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในประเด็นการดูแลให้มีเงินกองทุนที่เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจเพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง และเรื่องการดูแลการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า 


โดยในกรณีที่บริษัทมีแผนที่จะเลิกการให้บริการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือ margin loan บริษัทจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งต่อตัวลูกค้า ที่จะต้องให้เวลาลูกค้าอย่างเหมาะสมไม่เป็นการเร่งรัดและเป็นธรรมต่อตัวลูกค้า รวมทั้งภาพรวมของภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้กำชับให้การดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับ margin loan ให้เป็นไปตามสัญญาที่มีต่อลูกค้า ในลักษณะที่เหมาะสมและเป็นธรรม 


สำหรับข้อมูลหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของบัญชีมาร์จิ้นตามที่เป็นข่าวนั้น เป็นข้อมูลในภาพรวมของ บล.ทุกแห่งที่มีการประกอบธุรกิจมาร์จิ้น ไม่ใช่ข้อมูลเฉพาะของ บล. GMOZ เพียงแห่งเดียว ซึ่ง ก.ล.ต.ได้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้ บล.และลูกค้าใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในเรื่องความเสี่ยง โดย ณ เดือนเมษายน 2567 ธุรกิจมาร์จิ้นมียอดเงินให้กู้ยืมซื้อหลักทรัพย์คงค้าง (margin loan) มูลค่ารวม 8.81 หมื่นล้านบาท และมียอดรวมมูลค่าหลักทรัพย์ที่เป็นประกัน 2.75 แสนล้านบาท โดยหลักประกันดังกล่าวคุ้มหนี้ถึง 3.12 เท่า

 


สำหรับประเด็นการลูกค้าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ นั้น บล.มีแผนที่จะยกเลิกการประกอบธุรกิจบัญชีมาร์จิ้นภายใน 6 เดือน ตามที่เป็นข่าว บล.มีแนวทางที่ดำเนินการได้หลายวิธี เช่น ให้ลูกค้าโอนบัญชีมาร์จิ้นของตนไปยัง บล.แห่งอื่น (refinance) หรือให้ลูกค้ากำหนดแผนการทยอยชำระหนี้ในช่วง 6 เดือน เป็นต้น ในกรณีที่ครบ 6 เดือน ต้องมีการติดตามดูว่ายังมีลูกค้าที่ยังไม่ได้ชำระหนี้หรือไม่ และบริษัทจะมีการเจรจากับลูกค้าอย่างไร ทั้งนี้ ก.ล.ต.มีการติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของ บล.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวมีความเป็นธรรมต่อลูกค้า และไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดในภาพรวม


 

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. และผู้เกี่ยวข้องทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทหลักทรัพย์เห็นร่วมกันว่า Securities Bureau จะเป็นประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงและต่อตลาดทุนโดยรวม กล่าวคือ Securities Bureau คือ ระบบที่รวมข้อมูลลูกค้าในเรื่องต่างๆ เช่น ประเภทบัญชี วงเงินที่ลูกค้าได้รับจาก บล.แต่ละแห่ง มูลหนี้คงค้าง รายละเอียดหลักประกัน และประวัติการชำระหนี้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นระบบที่ช่วยให้ บล.มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงในการพิจารณาเปิดบัญชีและกำหนดและทบทวนวงเงินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะทำให้ บล.มีข้อมูลวงเงินที่ลูกค้าได้รับจาก บล.หลายๆ แห่ง ประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว อันจะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบได้ ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างประสานงานกับ SET และ ASCO เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการมีระบบ Securities Bureau


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์