รู้จัก P/E ratio ตัวชี้วัดหุ้น “ถูก” หรือ “แพง” ที่นักเล่นหุ้นต้องรู้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้จัก P/E ratio ตัวชี้วัดหุ้น “ถูก” หรือ “แพง” ที่นักเล่นหุ้นต้องรู้

Date Time: 8 มิ.ย. 2567 08:12 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • P/E ratio หรือ Price-to-Earnings ratio หนึ่งในตัวชี้วัดที่บอกว่าหุ้นนั้นถูกหรือแพง ช่วยให้นักลงทุนรู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาเหมาะสมหรือไม่

Latest


ในวงการหุ้น หนึ่งในตัวชี้วัดที่บอกว่าหุ้นนั้นถูกหรือแพง คือ P/E ratio หรือ Price-to-Earnings ratio หลายคนคงสงสัยว่า P/E ratio คืออะไร แล้วมันหมายความว่าอย่างไร? หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ “ถ้าบริษัทได้กำไร แล้วเอากำไรทั้งหมดจ่ายปันผลให้นักลงทุน ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี นักลงทุนถึงจะได้ทุนคืน” 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อหุ้นบริษัท A ที่มี P/E 10 เท่า หมายความว่า “ถ้าบริษัท A ได้กำไร แล้วเอากำไรทั้งหมดจ่ายปันผลให้นักลงทุน ต้องใช้เวลาอีก 10 ปี นักลงทุนถึงจะได้ทุนคืน” ซึ่งการอธิบายโดยง่ายแบบนี้มาจากวิธีคำนวณ P/E นั่นเอง

ความเป็นมา P/E ratio

ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์และนักลงทุนใช้ P/E Ratio เป็นเครื่องมือในการวัดความเหมาะสมของราคาหุ้น โดยการเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นกับกำไรสุทธิของบริษัท ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจลงทุนว่าหุ้นตัวใดมีมูลค่าต่ำเกินไป (undervalued) หรือมีมูลค่าเกินจริง (overvalued)

หลังจากนั้น P/E Ratio ก็ได้รับการปรับปรุงและประยุกต์ใช้ในหลากหลายวิธี นักวิเคราะห์เริ่มใช้ P/E Ratio เพื่อเปรียบเทียบบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือใช้ในการประเมินความสมเหตุสมผลของราคาหุ้นในตลาดโดยรวม การเปรียบเทียบ P/E Ratio ของบริษัทกับค่าเฉลี่ยของตลาดหรือดัชนีหุ้นเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

ทำไม P/E หุ้นถึงสำคัญ

P/E ratio ช่วยให้นักลงทุนรู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาเหมาะสมหรือไม่ โดยทั่วไป:

  • P/E สูง อาจบอกว่าหุ้นนั้นมีราคาแพงเมื่อเทียบกับกำไร หรืออาจแสดงถึงการที่ตลาดมองว่าบริษัทนั้นมีโอกาสเติบโตในอนาคต หรือก็อาจแสดงถึงการประเมินราคาหุ้นในระดับที่เกินกำไรที่เกิดขึ้นจริง
  • P/E ต่ำแต่ไม่น้อยกว่า 1 อาจบอกว่าหุ้นนั้นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับกำไร หรือมองในอีกมุม คือ กำไรสูง อย่างไรก็ตามราคาหุ้นยังคงสูงกว่ากำไรต่อหุ้นเสมอ 
  • P/E อยู่ในช่วง 0 ถึง 1 แสดงว่า กำไรต่อหุ้นสูงกว่าราคาหุ้น ซึ่งอาจแสดงถึงการประเมินราคาหุ้นที่ต่ำกว่ากำไรที่เกิดขึ้นจริง
  • P/E ติดลบ แสดงว่า บริษัทนั้นขาดทุน 

2 วิธีคำนวณ P/E ratio

วิธีที่ 1:  P/E ratio  = ราคาหุ้น (Price Per share) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (Earning Per share) 

วิธีที่ 2:  P/E ratio  = มูลค่าบริษัท (Market Cap) หารด้วย กำไรสุทธิบริษัท (Net Profit)

ซึ่งจริงๆ แล้ว วิธีที่ 2 ก็มีที่มาจาก วิธีที่ 1 เนื่องจาก มูลค่าบริษัท คือ การนำราคาหุ้นคูณจำนวนหุ้นทั้งหมด กำไรสุทธิบริษัท คือ กำไรต่อหุ้นคูณจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยเมื่อหารกันแล้วจำนวนหุ้นทั้งหมดจะตัดกันนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น หากมูลค่าบริษัท B อยู่ที่ 100 ล้านบาท และกำไรสุทธิบริษัทอยู่ที่ 20 ล้านบาท เมื่อนำมาคำนวณ P/E ratio ตามวิธีที่ 2 จะได้ P/E ratio เท่ากับ 5 ซึ่งหมายความว่า “ในกรณีที่บริษัทนำกำไรจ่ายเป็นเงินปันผลทั้งหมด นักลงทุนยินดีจ่าย 5 บาทต่อหุ้น เพื่อรับเงินปันผลจำนวน 1 บาทต่อหุ้นจากบริษัทนั้นๆ” หรือ “ถ้าบริษัท A ได้กำไร แล้วเอากำไรทั้งหมดจ่ายปันผลให้นักลงทุน ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี นักลงทุนถึงจะได้ทุนคืน” หรือสามารถอธิบายตามวิธีที่แต่ละคนถนัดก็ได้ ดังนั้นจำแค่วิธีที่ 1 ในการคำนวณ P/E ก็ได้ แล้วค่อยนำไปประยุกต์ในสถานการณ์อื่นๆ

วิธีดูและวิเคราะห์ P/E หุ้น

  • เปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน: การเปรียบเทียบ P/E ของบริษัทหนึ่งกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันจะช่วยให้เห็นภาพว่าราคาหุ้นบริษัทนั้นมีมูลค่าสูงเกินไป (overvalued) หรือมีมูลค่าต่ำเกินไป (undervalued) เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น บริษัท C มี P/E 10 เท่า แต่บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันมี P/E เฉลี่ย 20 เท่า แสดงว่า ราคาหุ้นบริษัท C ราคาถูกเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น
  • เปรียบเทียบแนวโน้ม P/E ในอดีต: การดูแนวโน้ม P/E ของบริษัทในอดีตสามารถช่วยให้เข้าใจว่า P/E มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร และอาจช่วยในการคาดการณ์อนาคตได้ เช่น บริษัท D มี P/E ที่ค่อยๆ ลดลง แสดงว่า หุ้นมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับในอดีต

ข้อควรระวังในการใช้ P/E หุ้น

  • ไม่ควรใช้ P/E ในการตัดสินใจลงทุนเพียงอย่างเดียว: P/E หุ้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวชี้วัด นักลงทุนควรพิจารณาข้อมูลอื่นๆ เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio), อัตราการเติบโตของกำไร,  อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Assets), สภาวะเศรษฐกิจ, การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน, ความเสี่ยงทางการเมือง หรืออะไรก็ตามที่อาจส่งผลต่อ P/E หุ้น
  • การตีความ P/E ที่ผิดพลาด: การตีความ P/E ที่ต่ำว่าเป็นโอกาสการลงทุนที่ดี อาจไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะ P/E ที่ต่ำอาจเป็นผลจากการที่บริษัทนั้นกำลังมีปัญหา เช่น ทุกคนทราบว่าบริษัทนั้นกำลังมีปัญหาจึงรีบเทขายหุ้นนั้น ทำให้ราคาหุ้นลดลง ส่งผลให้ P/E มีค่าต่ำ

P/E หุ้นเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนรู้ว่าหุ้นนั้นมีมูลค่าเหมาะสมหรือไม่ โดยการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับกำไรของบริษัท มันเป็นหนึ่งในหลายเครื่องมือที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายหุ้นนั้นๆ การเข้าใจและใช้ P/E หุ้นอย่างถูกต้องจะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์หุ้นไม่ได้ใช้ P/E อย่างเดียวในการวิเคราะห์ ควรใช้ตัวชี้วัดอื่นๆ ร่วมด้วย

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์