คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติอนุมัติหลักการยกระดับมาตรการและการออกเกณฑ์ใหม่ เพิ่มเติม 2 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการ Dynamic Price Band (DPB) หรือ Citcuit Breaker รายหุ้น คาดเริ่มบังคับใช้ได้เร็วสุดปลายไตรมาสที่ 2/67 และ 2. มาตรการ Auto Halt รายหุ้น คาดเริ่มบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสที่ 4/67 ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นผู้ลงทุน
รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติอนุมัติทั้ง 2 หลักการแล้ว กระบวนการต่อไปในการออกกฎเกณฑ์เพื่อบังคับใช้ คือ การหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจัดทำร่างกฎเกณฑ์ จากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะนำไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และประกาศบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่อไป
สำหรับมาตรการ Dynamic Price Band (DPB) คาดบังคับใช้ได้เร็วสุดในช่วงปลายไตรมาสที่ 2/67 ซึ่งเป็นมาตรการที่จะเข้ามาช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้น ไม่ให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสร้างราคา หรือการปั่นหุ้น รวมถึงจะช่วยให้นักลงทุนมีเวลาตัดสินใจซื้อขายได้มากขึ้น
โดยมาตรการดังกล่าว จะนำมาบังคับใช้กับหุ้นทุกตัวใน SET และ mai ที่มีราคามากกว่า 1 บาท ยกเว้นหุ้นที่มีเหตุอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าปกติ เช่น หุ้นจดทะเบียนใหม่ และหุ้นที่ ตลท. มีการขยายเพดานราคาสูงสุด (Ceiling) และราคาต่ำสุด (Floor) ประจำวัน
ซึ่งกลไกการทำงานของมาตรการ DPB นั้น จะมีการกำหนดช่วงราคาไว้ที่ ±10% จากราคาซื้อขายล่าสุด หากมีคำสั่งซื้อหรือขายหุ้นที่จะทำให้มีการจับคู่นอกช่วงราคาดังกล่าว ระบบซื้อขายจะหยุดจับคู่หุ้นนั้น และหยุดซื้อขายหุ้นที่เข้าข่ายการบังคับใช้มาตรการทันที จากนั้นจะเข้าสู่ช่วง Pre-Open เป็นเวลา 2 นาที เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้ โดยจะไม่มีการจับคู่ซื้อขาย
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการบังคับใช้มาตรการ Dynamic Price Band ในตลาดหุ้นชั้นนำต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความผันผวนของราคาที่อาจเปลี่ยนแปลงเร็วจนเกินไปในระยะเวลาสั้น เช่น ตลาดหุ้นนิวยอร์ก, ตลาดหุ้นเกาหลี และตลาดหุ้นไต้หวัน
ส่วนมาตรการ Auto Halt รายหุ้นนั้น เป็นมาตรการที่จะช่วยเข้ามาควบคุมหุ้นที่มีปริมาณซื้อขายที่ผิดปกติ และการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม คาดบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสที่ 4/67 โดยจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาเชิงระบบ รวมถึงทำความเข้าใจกับบริษัทหลักทรัพย์
ทั้งนี้ Auto Halt จะถูกนำมาใช้กับทุกหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย ยกเว้นหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายที่สูงเป็นปกติ เช่น หุ้นจดทะเบียนใหม่ โดยเงื่อนไขการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว จะเกิดขึ้นเมื่อจำนวนรวมของหุ้นในฝั่งซื้อหรือฝั่งขาย (ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง) มากกว่า 15% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน
เมื่อเกิดกรณีดังกล่าว ระบบจะหยุดการซื้อเฉพาะหุ้นนั้นเป็นเวลา 60 นาที และจะไม่ยกเลิกคำสั่งซื้อขาย ผู้ลงทุนสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายแต่ไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายใหม่ได้ โดยจะไม่มีการ Auto Halt มากกว่า 1 ครั้ง/วัน
โดยมองว่ามาตรการ Auto Halt จะช่วยป้องกันเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น MORE ได้ จากมีการส่งคำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติตั้งแต่ช่วง Pre-open ที่ 23% ของทุนจดทะเบียน และมองว่าการหยุดการซื้อเฉพาะหุ้น จะช่วยให้บริษัทหลักทรัพย์มีเวลาในการจัดการ และตรวจสอบความถูกต้องของการส่งคำสั่งซื้อขายของลูกค้า เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าได้
“มาตรการใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทยอยออกมา เชื่อว่าจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับการดูแลที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งประธานบอร์ดฯ ก็เน้นย้ำว่าอยากให้กลไกเหล่านี้สามารถทำได้เร็ว และเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนได้” รองรักษ์ กล่าว
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้