ADVANC อวดกำไร 8.4 พันล้าน กำไรพุ่ง 25% โตทุกกลุ่มธุรกิจ รายได้ค่าบริการรายเดือนพุ่ง

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ADVANC อวดกำไร 8.4 พันล้าน กำไรพุ่ง 25% โตทุกกลุ่มธุรกิจ รายได้ค่าบริการรายเดือนพุ่ง

Date Time: 30 เม.ย. 2567 18:10 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ADVANC ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 8,451 ล้านบาท เติบโตขึ้น 25% โตทุกกลุ่มธุรกิจ รายได้ค่าบริการรายเดือนพุ่ง พร้อมเปิดแผนปี 2567 อัดงบ 2.6 หมื่นล้าน ดันรายได้โต 13-15%

Latest


บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ADVANC รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/67 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,451 ล้านบาท เติบโตขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 21% จากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับผลดำเนินงานที่ดีขึ้น แม้จะมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและรับรู้รายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน


รายได้ขยายตัวจากการเติบโตในธุรกิจหลักและการเข้าซื้อกิจการ TTTBB - ในไตรมาส 1/2567 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเชิงโครงสร้างและความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสรุปเอไอเอสมีรายได้จากการให้บริการหลักที่ 39,437 ล้านบาท เติบโต 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 6.4% จากไตรมาสก่อน จากผลการดําเนินงานที่ดีขึ้นในทุกบริการหลัก โดยเฉพาะบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่มุ่งเน้นการเติบโตด้วยการสร้างผลกําไรที่ยั่งยืน ประกอบกับรับรู้รายได้จากการควบรวม TTTBB เข้ามาเต็มไตรมาส


บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเน้นแพ็กเกจบริการที่เพิ่มคุณภาพและเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า - รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 30,339 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเติบโต 0.9% จากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการรัฐและการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เอไอเอสมุ่งเน้นการเติบโตของลูกค้าใหม่ที่มีคุณภาพ การนําเสนอแพ็กเกจสร้างมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสมต่อผู้ใช้งานในแต่ละกลุ่ม ตามช่องทางและเวลาที่เหมาะสมผ่านกลยุทธ์ ส่งเสริมการขาย (Cross-sell & Upsell) ประกอบกับการปรับโครงสร้าง แพ็กเกจที่เพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง


เอไอเอสยังให้ความสําคัญกับการบริหารจัดการส่วนลดการขายอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้อัตรากําไรของการขายอุปกรณ์ปรับตัวดีขึ้น สู่ระดับใกล้เคียง 5% ในไตรมาส 1/2567 และยกระดับคุณภาพของบริการที่ลูกค้าจะได้รับผ่านบริการ 5G ด้วยการลงทุนขยายประสิทธิภาพของโครงข่าย 5G ที่มีความครอบคลุมมากกว่า 90% ของประชากรไทยทั่วประเทศ ทําให้ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเครือข่ายเอไอเอส 5G โดย ณ ไตรมาส 1/2567 มีจํานวนผู้ใช้งาน 5G เติบโตขึ้นใกล้เคียง 9.9 ล้านราย


บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเติบโตอย่างมีนัยสําคัญ จากการรวมรายได้ของ TTTBB และการเติบโตของฐานลูกค้าคุณภาพสูง - รายได้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ที่ 7,118 ล้านบาท เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 163% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเติบโต 41% จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ของ TTTBB เต็มไตรมาส ร่วมกับการเติบโตฐานผู้ใช้บริการรายใหม่ด้วย แพ็กเกจที่มุ่งเน้นคุณค่า ซึ่งได้รับประโยชน์จากความครอบคลุมโครงข่ายที่เพิ่มมากขึ้น เกือบเท่าตัว คุณภาพการให้บริการที่ดี ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้วยนวัตกรรมใหม่และแพ็กเกจพ่วงบริการด้านคอนเทนต์ที่ครอบคลุมกระบวนการควบรวมภายหลังการเข้าซื้อกิจการเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยมุ่งความสําคัญกับขั้นตอนการดําเนินงานโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อยอดขายและการให้บริการแก่ลูกค้า การเชื่อมทรัพยากรบุคคลและกระบวนการทํางานเข้าหากันอย่างเหมาะสม รวมถึงการปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกัน เพื่อส่งมอบประสบการณ์การใช้ งานที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า


ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรรักษาการเติบโตจากความต้องการด้านดิจิทัลท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย - รายได้บริการลูกค้าองค์กร (ไม่รวมโทรศัพท์เคลื่อนที่) อยู่ที่ 1,602 ล้านบาท เติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้รายได้ของ TTTBB และความต้องการในบริการเชื่อมต่อที่ยังคงเติบโตสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รายได้คงที่จากการรับรู้ รายได้ TTTBB เข้ามาเต็มไตรมาส ชดเชยกับการลดลงของยอดขาย เนื่องจากมี โครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในไตรมาส 4/2566


เปิดแผนปี 2567 อัดงบ 2.6 หมื่นล้าน ดันรายได้โต 13-15%


คาดการณ์รายได้การให้บริการหลักเติบโตที่ระดับ 13-15% ปี 2567 คาดการณ์การเติบโตจากการรับรู้รายได้จากการซื้อกิจการ TTTBB ร่วมกับการรักษาแนวโน้มการเติบโตของการดําเนินงานปกติ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้และภาวะการแข่งขันที่ทรงตัว เอไอเอสมุ่งเน้นสร้างการเติบโตด้วยการนําเสนอบริการแบบหลอมรวม (Convergence) ระหว่างบริการหลักด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้ผู้ใช้บริการได้รับคุณค่ามากขึ้นจากการใช้งานหลากหลายผลิตภัณฑ์ (multi-product proposition) ควบคู่กับพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง


EBITDA เติบโตประมาณ 14-16% จากการมุ่งเน้นที่ความสามารถในการทํากําไร เอไอเอสยังคงตั้งเป้าบริหารจัดการต้นทุนการดําเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการรับรู้ประโยชน์จากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB เพื่อสร้างกระบวนการทํางานที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทํางาน พัฒนาการส่งมอบสินค้าและบริการ สร้างประสบการณ์ของผู้ใช้บริการที่เหนือกว่า เอไอเอสตั้งเป้ายกระดับกระบวนการทํางานในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ไอที โครงข่าย การวิเคราะห์ข้อมูล และทรัพยากรบุคคล นอกจากนั้นเอไอเอสมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากการใช้โครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม เพื่อให้สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย


ตั้งเป้างบลงทุนระหว่าง 25,000 ถึง 26,000 ล้านบาท เพื่อรักษาคุณภาพภายใต้ความเหมาะสม โดยเอไอเอสคาดการณ์งบลงทุนที่ลดลงจากปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนโครงข่าย 5G สําหรับคลื่นความถี่ 700MHz ในปี 2566 การใช้ประโยชน์จากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กว้างขึ้นของ TTTBB การใช้จ่ายงบลงทุนอย่างเหมาะสม สอดคล้องไปกับความตั้งใจของบริษัทที่ต้องการรักษาลูกค้าคุณภาพสูง ผ่านการคงสถานะการเป็นผู้นําด้านโครงข่าย ในขณะยังมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากการเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้งบลงทุนร่วมเพื่อให้มีประโยชน์และประสิทธิผลทางการเงินมากขึ้น (CAPEX synergy) จากการผนึกกําลังของโครงข่ายระหว่างเอไอเอสและ TTTBB โดยสรุปเอไอเอสคาดการณ์สัดส่วนงบลงทุนสําหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 60% ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน 28% และส่วนที่เหลือสําหรับธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและอื่นๆ

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ