เคาะออกมาแล้วสำหรับการจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายสำคัญของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะได้ใช้เงินกันในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองว่า นโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นผลประกอบการของธุรกิจอาหาร และค้าปลีก
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ประเมินว่า ค้าปลีกได้ประโยชน์ กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทต่อคน เริ่มใช้จริงปลายปีนี้ : วานนี้รัฐบาลแถลงความชัดเจนของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยจะแจกเงินดิจิทัลให้กับประชาชนที่มีอายุเกิน 16 ปี รายได้พึงประเมินต่อปีไม่เกิน 840,000 บาท มีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท, ใช้เงินจากงบประมาณของปี 67 และปี 68 และจาก ธ.ก.ส. รวมมูลค่าโครงการ 5 แสนล้านบาท, เปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนไตรมาสที่ 3 และโอนเงินให้ประชาชนใช้จริงไตรมาสที่ 4
อย่างไรก็ตาม CPALL คาดจะได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล หลังภาครัฐจัดให้ร้านสะดวกซื้อเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ที่เข้าร่วมรายการได้ ทำให้ CPALL ซึ่งมีจำนวนสาขากระจายครอบคลุมในทุกพื้นที่มีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า รัฐส่งสัญญาณเดินหน้า DIGITAL WALLET อย่างเป็นทางการ โดยยืนยันกรอบเวลาเปิดให้ลงทะเบียนผู้รับสิทธิ์ และร้านค้า ในไตรมาสที่ 3 และเติมเงินเข้า DITGITAL WALLET ในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้แหล่งเงินมาจาก 3 ส่วนคือ งบประมาณปี 2568 จำนวน 1.527 แสนล้านบาท, แปรงบประมาณปี 2567 จำนวน 1.75 แสนล้านบาท และ ธ.ก.ส. 1.723 แสนล้านบาท (ใช้ ม.28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ และถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดหุ้น
สรุป DIGITAL WALLET มาแล้ว แต่เริ่มใช้ได้ไตรมาสที่ 4 โดยรัฐบาลคาดจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 1.2-1.6% ของ GDP ทั้งปี (TURNOVER 0.4-0.5 เท่า) โดยคาดที่ได้ประโยชน์คือ หุ้นกลุ่มอาหาร-ค้าปลีก/ค้าส่ง อาทิ CBG, ICHI, OSP, TFG, BTG, CPAXT, BJC เป็นต้น.