ตลาดหลักทรัพย์ เผยมีแค่ 200 บจ. รายงาน ‘คาร์บอนเครดิต’ เหตุไม่สามารถคำนวณปริมาณได้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลาดหลักทรัพย์ เผยมีแค่ 200 บจ. รายงาน ‘คาร์บอนเครดิต’ เหตุไม่สามารถคำนวณปริมาณได้

Date Time: 2 ก.พ. 2567 07:00 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Latest


คำว่า “คาร์บอนเครดิต” ได้ยินกันคุ้นหูมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากเมกะเทรนด์ของโลกที่ต้องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ทำให้ภาคธุรกิจต่างตั้งเป้าหมายลดการปล่อยหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากการทำโครงการต่างๆ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การปลูกป่า เพื่อทำให้การปล่อยต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และนำไปขายเป็นเครดิตให้กับบริษัทอื่นๆ ได้


ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จับมือพันธมิตร จัดงาน “Green Economy: Next Growth and Survive” ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมเชิญภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัทจดทะเบียน ร่วมรับฟังโมเดลและรูปแบบนวัตกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม


ตลาดหลักทรัพย์ ยกระดับ “ความยั่งยืน”


ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในงาน Green Economy: Next Growth and Survive ว่า บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางของตลาดทุน จะต้องพยายามยกระดับเรื่องของความยั่งยืน ทั้ง Ecosystem ไปพร้อมๆ กัน


ในฝั่งของบริษัทจดทะเบียนเอง เมื่อก่อนอาจมีการรับรู้ว่าเรื่องของความยั่งยืน เป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ปัจจุบันหลายบริษัทเริ่มตระหนักถึงความสำคัญ จากเทรนด์ของโลก ทั้งการค้าและการลงทุน ที่เริ่มให้น้ำหนักกับความยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเอง ก็ให้ความสำคัญกับบริษัทที่ใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วยเช่นกัน


เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา คือการเน้นให้ข้อมูลว่าทำอย่างไร หรือกิจกรรมแบบใดจึงจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ พร้อมมี Workshop ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว


นอกจากนี้ สำหรับบริษัทที่ต้องการเข้าจดทะเบียนใหม่ ยังมี “ESG checklist” ให้ตรวจสอบว่ามีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลแล้วหรือไม่ 


“การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปัจจุบัน มองว่าไม่ใช่การตั้งคำถามว่าทำไม (Why) ต้องลด แต่เป็นการทำอย่างไร (How to) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า” ดร.ศรพล กล่าว


มีแค่ 200 บจ. รายงาน ‘คาร์บอนเครดิต’


ดร.ศรพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อรวบรวมข้อมูลว่า บริษัทจดทะเบียนมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Emission) ต่อปีที่ปริมาณเท่าไร แต่พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เพียง 200 บริษัทเท่านั้น จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 900 บริษัท


ทั้งนี้ มีเพียง 55 บริษัท ที่มีรายงานการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์กรต่างๆ ส่วนที่เหลือจะเป็นการจัดทำกันในบริษัท โดยอาจมองว่าการทำรายงานที่มีการรับรองนั้นมีต้นทุนสูง อย่างไรก็ดี หากมองเป็นโอกาสทางธุรกิจ จะพบว่าเรื่องดังกล่าวสามารถเพิ่มโอกาสในการทำการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น และสามารถประหยัดต้นทุนของธุรกิจจากค่าพลังงานได้ ขณะเดียวกันนักลงทุนก็มีข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจมากขึ้นเช่นกัน


ลุยพัฒนาเครื่องมืออำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ


ขณะที่ สาเหตุสำคัญที่มีการรายงาน “คาร์บอนเครดิต” ในจำนวนไม่มากนั้น มองว่ามาจากบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ยังไม่สามารถวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีของตนเองได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีแผนพัฒนาเครื่องมือ “Carbon Calculator” ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยให้บริษัทจดทะเบียนวัดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ ยังมีการสนับสนุนให้มีตัวกลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยการจัดทำแบบฟอร์มข้อตกลงการค้ามาตรฐานสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการตรวจสอบ หรือ “Carbon Credit Standards Contract” เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทมีการซื้อขายกันเองนอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC)

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ