ภาวะดอกเบี้ยสูงกำลังเป็นภัยคุกคามใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ที่ต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินงาน จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะตลาดหุ้นกู้ที่ “ปิด” จากปัญหาความเชื่อมั่น ทำให้นักลงทุนหลายคนเลื่อนที่จะไม่ลงทุนในตลาดหุ้นกู้ ดังนั้นธุรกิจในเมืองไทยต้องเร่งหาทางปรับตัว
บริษัทจดทะเบียนหลายรายกำลังส่งสัญญาณว่าอาจกำลัง “ขาดสภาพคล่อง” โดยพบว่าบางส่วนต้องขอเลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ออกไป หรือขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกรรมการบริษัทและบริษัทแม่ ขณะที่สถานการณ์ในตลาดหุ้นกู้นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น ทำให้บบางบริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมได้
“Thairath Money” รวบรวมบริษัทจดทะเบียนที่ส่งสัญญาณว่าอาจกำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่องในต้นปี 2567 ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยพบว่ามีมูลค่าหนี้รวมประมาณกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท บางส่วนต้องขอเลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ออกไป หรือขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกรรมการบริษัทและบริษัทแม่
บริษัทที่ขอเลื่อนชำระคืนหนี้หุ้นกู้ เช่น
บริษัทที่ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน/กรรมการบริษัท เช่น
บริษัทที่ขยายเวลาชำระคืนเงินต้น เช่น
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “Thairath Money” ว่า ประเด็นหลักที่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวนั้น เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยดอกเบี้ยค่อยๆ ขยับขึ้นจากช่วงปลายปี 2565 ประมาณ 40 bps หรือ 0.4% โดยมีผลกระทบอย่างมากต่อกำไรบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุก 10 bps หรือ 0.1% จะดึงกำไรบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมประมาณให้ลดลงประมาณ 2.5%
ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลกระทบต่อบริษัทที่มีหนี้สูง อย่างบางบริษัทที่เตรียมกระแสเงินสดไว้ชำระหนี้คืนอัตราดอกเบี้ยเดิม พอดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นมาก็ไม่สามารถจ่ายไหว และพอจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม (Rollover) ด้วยอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ระดับสูง ก็ไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ ยังมองว่านักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกู้ และไม่กล้าเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะบริษัทที่ฐานะทางการเงินไม่ค่อยดี หนี้เยอะ ส่งผลทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นไปอีก และหาก Rollover ไม่ได้ ในระยะต่อไปบริษัทที่ไม่น่าจะมีปัญหา ก็อาจประสบปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะดีขึ้นได้ หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลงมา ประกอบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องสร้างความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกู้ให้ได้
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวอีกว่า ภาพรวมของยอดหนี้ที่ต้อง Rollover ในไตรมาส 1/67 มีจำนวนมาก ซึ่งหากผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว มองว่าจะมีบริษัทที่มีปัญหาลดลง ในแง่บริษัทจดทะเบียนที่เราติดตามดูว่าอาจมีความเสี่ยง ก็ปรากฏให้เห็นไปเกือบหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยค้างอยู่ในระดับสูงต่อไปแบบนี้ แม้แนวโน้มยอดรวมมูลค่าหนี้ที่จะ Rollover ลดลง แต่ก็มีโอกาสที่บริษัทที่มีปัญหาจะผุดออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเจอบริษัทลักษณะดังกล่าวนั้น ณัฐพล กล่าวว่า แนะนำให้นักลงทุนดูฐานะการเงินเป็นหลัก โดยเฉพาะอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) หากอยู่ในระดับสูงก็มีความเสี่ยง พร้อมกับพิจารณากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ว่าเป็นบวกเพียงพอที่จะจ่ายคืนหนี้หรือไม่ หากกระแสเงินสดเป็นลบก็น่าเป็นห่วงว่าอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังแนะนำให้พิจารณาภาพรวมผลประกอบการ หรืองบกำไร/ขาดทุน หากขาดทุนต่อเนื่อง จะทำให้ส่วนของทุนลดลงมา และส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อาจไปแตะทริกเกอร์ในการ Rollover ก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้