จากกรณีภาครัฐเดินหน้านโยบายลดภาระประชาชน ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ทำให้ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการหางบประมาณในการอุดหนุนดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าจะเกิดผลกระทบต่อหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อาจจะต้องรับภาระดังกล่าว โดยรอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทชี้ขาดวันพรุ่งนี้
โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า มติ ครม. ลดค่าครองชีพ ส่งผลกระทบต่อหุ้นตัวใดบ้าง ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (19 ธ.ค.) มีมติเห็นชอบลดค่าครองชีพให้กับประชาชน แบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงาน คือ
1) ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าให้ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย (จากเดิมที่กำหนดอยู่ที่ 4.68 บาท) โดยจะให้ PTT นำเงิน SHORTFALL ที่ PTT ได้จากเชฟรอนที่ไม่สามารถส่งก๊าซฯ ได้ตามสัญญาช่วงปลายสัมปทานมาช่วยลดค่าไฟส่วนนี้ ซึ่งยังต้องรอบอร์ด PTT สรุปอีกครั้งในที่ประชุมพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) 2) ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นระยะเวลา 3 เดือน (1 ม.ค.-31 มี.ค. 67)
จากประเด็นดังกล่าวผลกระทบหลักเชิง SENTIMENT เบื้องต้นจะตกอยู่ที่ PTT เพราะ ถูกภาครัฐขอเงินไปอุดหนุนค่าไฟ ซึ่งหากข้อสรุปของบอร์ด PTT ว่าจะให้เงินส่วนนี้ 4.3 พันล้านบาทแก่ภาครัฐ ก็จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรปี 2566 ของ PTT ราว 4.4% และหากพิจารณาในส่วนของค่าไฟฟ้าที่จะลดไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย น่าจะทำให้ค่า FT งวด ม.ค.-เม.ย. 67 ปรับตัวลดลง ก็จะกระทบกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่มีรายได้ค่าไฟฟ้าอิงกับค่า FT อาทิ GPSC, BGRIM, GULF เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนจากมติที่ประชุม ครม. เมื่อ 19 ธ.ค. 66 ด้วยการตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค.-เม.ย. 67 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1) สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 17 ล้านครัวเรือน จะตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย 2) ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน ที่ประชุม ครม. ได้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าจากเดิมกำหนดอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย แต่จะปรับลดลงในอัตราเท่าใดนั้น กระทรวงพลังงานจะขอพิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐผ่าน กกพ. ได้เรียกร้องเงินค่า SHORTFALL จำนวน 4.3 พันล้านบาท ให้นำมาจ่ายให้กับ กกพ. หลังจากก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ส่งหนังสือคำสั่งถึง ปตท. เพื่อขอให้คืนเงิน SHORTFALL ภายใต้สัญญา DCQ (DAILY CONTRACT QUANTITY) เป็นจำนวน 4.3 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แปลงเอราวัณ ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 ที่ได้รับจาก CHEVRON เนื่องจาก CHEVRON ไม่สามารถส่งก๊าซฯ ให้ผู้ซื้อ (PTT) ได้ตามสัญญาในช่วงปลายสัญญา ก่อนจะเปลี่ยนผู้ดำเนินการแปลงเอราวัณเป็น PTTEP ตั้งแต่ 25 เม.ย. 65
แต่ทั้งนี้ ทาง PTT ได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากมองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามสัญญาซื้อ ขายของเอกชนระหว่างผู้ซื้อคือ PTT และผู้ขายคือ CHEVRON ซึ่งทาง PTT ก็ต้องมี การบริหารความเสี่ยงในการจัดการเองด้วยไม่เกี่ยวกับภาครัฐ ทำให้จนถึงปัจจุบันทาง กกพ. ยังไม่ได้รับค่า SHORTFALL จากทาง ปตท. แต่อย่างใด ซึ่งในประเด็นนี้คง ต้องรอข้อสรุปจากการประชุมบอร์ด PTT ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ 21 ธ.ค. 66 ว่าจะมี แนวทางออกมาในรูปแบบใด นอกจากนี้ อีกประเด็นที่สำคัญจากที่ประชุม ครม. ที่มีมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ให้มีการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา POOL GAS ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติ
ส่งผลให้ราคา POOL GAS โดยรวมลดลง และต้นทุนผลิตไฟฟ้าลดลง ทั้งนี้ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตแอลพีจีสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (GULF GAS) ซึ่งในประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่เคยหยิบยกขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ยาก เพราะปัจจุบันก๊าซฯ ที่ผลิตได้หลักๆ ในอ่าวไทย จะต่อท่อเข้าโรงแยกก๊าซฯ และเข้าสู่โรงงานปิโตรเคมีโดยตรง ทำให้ราคาปิโตรเคมีจะอิงกับต้นทุนราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทย ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าราคา LNG ดังนั้นหากมีการปรับให้มาใช้ราคา POOL GAS ราคาเดียว จะทำให้ต้นทุนของ PTTGC ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อ PTTGC แต่ทั้งนี้ ยังต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเป็นในทิศทางใดอีกครั้ง
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment