สถานการณ์ราคาเนื้อหมูในตลาดตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา กดดันเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ผลิตเนื้อหมูในประเทศอย่างมาก ขณะที่ทางออกของเรื่องนี้ดูเหมือนจะมีความคลี่คลายมากขึ้น หลังมีความร่วมมือจากภาคเอกชนและสมาคมผู้ผลิตเนื้อหมูมากขึ้น ในการป้องกันการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย และช่วยกันตรวจพบและทำลาย
บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG ผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ ที่มีธุรกิจหลักในการจำหน่ายอาหารและโปรตีน โดยเฉพาะเนื้อหมูและเนื้อไก่ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน โดยในช่วงที่ผ่านมาภาวะราคาหมูตกต่ำ กดดันความสามารถในการทำกำไรและผลประกอบการอย่างมาก
“หมูเถื่อน” กดดันราคาหมูตกต่ำ
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ร่วมกันติดตามสถานการณ์การลักลอบจำหน่ายหมูที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย หรือ “หมูเถื่อน” และกดดันให้มีการทำลายอย่างต่อเนื่อง หลังสิ้นปีที่ผ่านมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ เกิดปัญหาราคาหมูตกต่ำอย่างมาก โดยราคาหมูเป็นเหลือเพียง 60-70 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น จากเดิมที่ราว 100 บาทต่อกิโลกรัม
จากแรงกดดันในการเร่งทำลายหมูเถื่อนดังกล่าว ทำให้เกิดการเร่งระบายหมูเถื่อนออกมา กดดันราคาเนื้อหมูในตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้มีการตรวจพบและทำลายไปแล้วกว่า 159 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 4 ล้านกิโลกรัม อย่างไรก็ดี เชื่อว่าต่อจากนี้ไปกรมศุลกากรจะดำเนินมาตรการอย่างเคร่งครัด ในการตรวจสอบเอกสาร และเปิดตู้คอนเทนเนอร์สินค้าอาหารแช่แข็ง ซึ่งเนื้อหมูเถื่อนแช่แข็งส่วนมากถูกจัดเก็บอยู่ในห้องเย็นและด่านท่าเรือ จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นให้กับผู้ผลิตเนื้อหมูในประเทศ
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากมีมาตรการที่เข้มงวดและทำลายเนื้อหมูเถื่อนมากขึ้น ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในตลาดปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ราว 84 บาทต่อกิโลกรัม มองว่าเกิดจากการลดซัพพลายที่มากเกินจำเป็น และมีการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจเกษตร 29% กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน 64% ธุรกิจระหว่างประเทศ 5% และธุรกิจสัตว์เลี้ยง 2%
นโยบายลดค่าไฟ-ขึ้นค่าแรง
นายวสิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มองว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทค่อนข้างน้อย จากพนักงานของบริษัทมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นสัดส่วนกว่า 84% ขณะที่ค่าแรงของพนักงานคิดเป็นไม่ถึง 6% ของต้นทุนทั้งหมด
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเอกชนหลายรายมีการส่งสัญญาณไปยังพรรคการเมืองว่าการปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายที่หาเสียงไว้นั้น จะกระทบต่อการเพิ่มต้นทุนในภาพรวมของภาคการผลิต และจะมีผลด้านลบต่อการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออก
ส่วนนโยบายการปรับลดค่าไฟฟ้านั้น มองว่าต่อจากนี้ไปมีแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ปัจจุบันค่าไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนราว 2% ของต้นทุนบริษัท
วางงบลงทุนปี 2565-2568 รวม 1.59 หมื่นล้านบาท ดันรายได้โตปีละ 8-10%
บริษัทวางงบลงทุนสำหรับปี 2566 ไว้ที่ 5,126 ล้านบาท โดยเน้นการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีนที่จะใช้สัดส่วนงบลงทุนสูงที่สุดถึง 1,754 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเกษตร 1,356 ล้านบาท การขยายธุรกิจระหว่างประเทศ 730 ล้านบาท ธุรกิจสัตว์เลี้ยง 330 ล้านบาท และส่วนที่เหลือสำหรับการลงทุนอื่นๆ อีก 420 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทเชื่อว่าการลงทุนในระดับปีละประมาณ 5,000 ล้านบาทนี้ จะช่วยสนับสนุนให้สามารถมีรายได้เติบโตได้เฉลี่ยปีละ 8-10% เป็นฐานในการเติบโตทุกปี อย่างไรก็ดี บริษัทยังเปิดโอกาสในการเติบโต จากการซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการด้วย