เทียบฟอร์ม 3 หุ้นร้านไอที ใครเจ๋งกว่ากัน?

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เทียบฟอร์ม 3 หุ้นร้านไอที ใครเจ๋งกว่ากัน?

Date Time: 5 พ.ค. 2566 07:48 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • 3 หุ้นร้านขายอุปกรณ์ไอทีขนาดใหญ่ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มาให้นักลงทุนได้เปรียบเทียบกันชัดๆ ว่า ใครเจ๋งกว่ากัน?

Latest


สินค้าไอทีในทุกวันนี้ เชื่อว่าถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกคนไปแล้ว โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน และผู้ผลิตแต่ละค่ายต่างไม่ยอมกัน โดยออกรุ่นใหม่มาอัปเดตเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง บางคนเรียกได้ว่าแทบจะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุกปีเลยทีเดียว

วันนี้ #ไทยรัฐมันนี่ นำข้อมูล 3 หุ้นร้านขายอุปกรณ์ไอทีขนาดใหญ่ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มาให้นักลงทุนได้เปรียบเทียบกันชัดๆ ว่า ใครเจ๋งกว่ากัน? โดยล่าสุด บมจ.แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ ADVICE ผู้จำหน่ายปลีก-ส่งสินค้าไอที ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อเตรียมเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ไม่เกิน 170,000,000 หุ้น หรือ 27.42% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เพื่อลงทุนขยายธุรกิจ ขยายสาขา ปรับปรุงสาขาเดิม ชำระคืนเงินกู้ เป็นเงินทุนหมุนเวียน และลงทุนปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

เริ่มกันที่ บมจ.เจ มาร์ท หรือ JMART ที่ปัจจุบันบริษัทมีสถานะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี หรือประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจอื่น โดยมีธุรกิจหลักของบริษัทแกนคือ จำหน่ายทั้งค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่หลักทุกรายและผู้ให้บริการเครือข่าย และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

โดยบริษัทรายงานผลประกอบการปี 2565 มีรายได้รวม 14,741.59 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,794.96 ล้านบาท ลดลง 27.25% จากปีก่อนที่ 2,467.59 ล้านบาท โดยบริษัทให้คำอธิบายต่อผลประกอบการว่าการสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มบริษัทจะมีแรงผลักดัน ด้วยกัน 2 ปัจจัย คือ “Organic Growth” ซึ่งได้รับจากธุรกิจที่เจมาร์ทได้บริหารเป็นหลักในปัจจุบัน และ “Inorganic Growth” ซึ่งเป็นกิจการที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน เพื่อสร้างและต่อยอด Ecosystem เพิ่มเติมในช่วงปี 2565 และเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมาหากไม่รวมกำไรพิเศษที่เกิดขึ้น จำนวน 1,296 ล้านบาท จะทำให้อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเท่ากับ 53%

นอกจากนี้บริษัทยังมีสาขาการให้บริการที่หลากหลาย โดยมีหน้าร้านมากกว่า 200 แห่ง รวมถึงมีตัวแทนจำหน่ายจากบมจ.ซิงเกอร์ที่บริษัทถือหุ้นอยู่จำนวนกว่า 4,000 ราย ขณะที่บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาช่องทางการขายแบบ Synergy เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในระดับจุลภาค

ต่อมาคือ บมจ.คอมเซเว่น หรือ COM7 ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าไอที ประเภทคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางการจำหน่ายหลัก รวมทั้งให้บริการศูนย์ซ่อมสินค้าแบรนด์ Apple

บริษัทรายงานผลประกอบการปี 2565 มีรายได้รวม 63,025.62 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,037.71 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิเติบโตจากปี 2564 ที่ 2,630.39 ล้านบาท หรือเติบโตราว 15.48% โดยบริษัทให้คำอธิบายประกอบการรายงานงบฯ ว่าเมื่อภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว รวมถึงภาคการบริโภคในประเทศเริ่มมีกำลังซื้อและใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2565 ยังคงสามารถเติบโตได้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่าจะยังคงสามารถรักษาศักยภาพในการเติบโตของผลการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

อย่างไรก็ดี บริษัทมีจำนวนสาขาการให้บริการรวมกว่า 1,160 สาขา ประกอบด้วยแบรนด์ต่างๆ ได้แก่ BaNANA, Bb, B-Play, BKK, Dr.Pharma, E-quip, Franchise, iCare, KingKong Phone, Studio7, True Shop by Com7, U-Store และ Brand shop

สุดท้ายคือ บมจ.แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ ADVICE ผู้จำหน่ายปลีก-ส่งสินค้าไอที เช่น คอมพิวเตอร์ประกอบ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ผ่านช่องทางสาขาและช่องทางออนไลน์ และให้บริการหลังการขายที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร

ล่าสุดรายงานผลประกอบการในไฟลิ่ง ปี 2565 มีรายได้รวม 14,395.0 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 205.7 ล้านบาท ลดลงจากกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 430.2 ล้านบาท หรือลดลงราว 52.18% โดยบริษัทให้เหตุผลว่า สาเหตุหลักจากการลดลงของอัตรากำไรขั้นต้น เนื่องจากต้นทุนสินค้าบางประเภท เช่น การ์ดจอ ปรับตัวสูงขึ้นจากการสต๊อกสินค้าในช่วงปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่การ์ดจอยังมีราคาจำหน่ายสูง ขณะที่ราคาขายการ์ดจอในปี 2565 ปรับตัวลดลงตามการลดลงของราคาบิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอร์เรียม (Ethereum)

นอกจากนี้บริษัทจำหน่ายสินค้าไอทีผ่านช่องทางสาขาและช่องทางออนไลน์ โดยมีสาขา “Advice” รวมทั้งสิ้น 337 สาขา ประกอบด้วย สาขาที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของจำนวน 112 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในจังหวัดที่สำคัญของประเทศไทย และสาขาแฟรนไชส์ (Franchise) อีก 225 แห่ง กระจายอยู่ในแหล่งชุมชนในอำเภอและจังหวัดต่างๆ ครอบคลุม 75 จังหวัดในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ