GRAMMY จับมือ RS ตั้งกิจการร่วมค้า เซ็นสัญญา 3 ปี บุกตลาดคอนเสิร์ต

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

GRAMMY จับมือ RS ตั้งกิจการร่วมค้า เซ็นสัญญา 3 ปี บุกตลาดคอนเสิร์ต

Date Time: 28 มี.ค. 2566 17:59 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Latest


GMM MUSIC และ RS MUSIC ได้จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือในการจัดตั้งกิจการร่วมค้าอะครอสเดอะยูนิเวิร์ส (ACROSS THE UNIVERSE JOINT VENTURE) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมจัด SERIES CONCERT (ซีรีส์คอนเสิร์ต) ครั้งประวัติศาสตร์ ที่รวบรวมศิลปินตั้งแต่ยุค 90 และยุค 2000 ของทั้ง 2 ค่ายมารวมตัวกัน โดยทั้ง 2 บริษัท ลงนามตกลงความร่วมมือในการหยิบจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัท ร่วมลงทุนเพื่อจัดคอนเสิร์ตใหญ่ต่อเนื่องแบบ 3 ปี โดยจะมีการกำหนดหน้าหนังการแสดงเป็นปีต่อปี

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีความยินดีในการร่วมลงทุนกิจการร่วมค้าในครั้งนี้ จากในอดีตไม่เคยเกิดความร่วมมือแบบนี้มาก่อน โดยมองว่าการร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องของช่วงเวลา และการจัดกิจกรรมหลังช่วงโควิด ทำให้มีการพูดคุยที่ลงตัวเกี่ยวกับความร่วมมือที่เหมาะสม ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยกันมาใช้ระยะเวลากว่า 5 ปีจึงจะเกิดคอนเสิร์ตนี้

ขณะเดียวกันทั้งสองบริษัทมีการร่วมลงทุนในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อจัดซีรีส์คอนเสิร์ตใหญ่ต่อเนื่อง 3 ปี เฉลี่ยปีละ 3 คอนเสิร์ตในธีมที่แตกต่างกัน คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 220 ล้านบาท หรือรวม 3 ปีที่ 660 ล้านบาท และคาดหวังให้มีอัตรากำไรที่ระดับ 40-50%

โดยในปี 2566 จะมีการจัด 3 คอนเสิร์ต ในวันที่ 29-30 เดือนกรกฎาคม, วันที่ 9-10 เดือนกันยายน และวันที่ 28-29 ตุลาคมตามลำดับ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี บริษัทตั้งเป้าหมายให้สามารถขายบัตรได้ทั้งหมด ซึ่งจะสามารถรับรู้จำนวนผู้เข้าชมได้ไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคน โดยกำหนดราคาบัตรอยู่ในช่วงระหว่าง 2,000-6,000 บาทต่อใบ โดยรายละเอียดของแต่ละคอนเสิร์ตจะมีการสื่อสาร โปรโมตแยกเป็นครั้งๆ ต่อจากนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะมีการหารือร่วมกันระหว่างสองบริษัทเพื่อติดตามผลตอบรับและหาแนวทางเพื่อโอกาสเพิ่มเติมในการจัดคอนเสิร์ตเพิ่มเติมให้ได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จากปัจจุบันที่ทำรายได้จากการขายบัตรอิงตามความจุสถานที่ และมีผู้สนับสนุน (สปอนเซอร์) เป็นส่วนเสริมในการทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ราย

นอกจากนี้ มองว่าอุตสาหกรรมเพลงยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก จากปัจจุบันมูลค่าตลาดเพลงในไทยอยู่ที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งคอนเสิร์ตดังกล่าวจะช่วยผลักดันการเติบโตในภาพรวมเฉลี่ยปีละ 10% และยังเป็นโอกาสที่ทำให้การบริโภคเพลงภายในประเทศเพิ่มขึ้น ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มและสตรีมมิง จากภาวะของ “Attention Economy” ที่หากธุรกิจใดแย่งเวลาจากผู้บริโภคได้มากกว่าก็จะสามารถสร้างโอกาสในการเติบโตได้

"เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดที่ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ ผมขอขอบคุณ และมีความสุขมากที่บุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง จากทั้ง 2 ฝ่าย จะมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน เพื่อมอบความสุขที่พิเศษ และยิ่งใหญ่ที่สุดให้กับเเฟนเพลงชาวไทยทุกคน เราจะใช้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อทำให้คอนเสิร์ตครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นที่น่าจดจำ และเป็นกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์อย่างไม่ลืมเลือน สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณทีมงานอาร์เอสมิวสิคทุกท่าน ที่ร่วมกันผลักดัน และสร้างปรากฏการณ์ระดับประเทศในครั้งนี้ให้เกิดขึ้น" นายภาวิต กล่าว

ด้านนายวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการ กิจการร่วมค้าอะครอสเดอะยูนิเวิร์ส ซึ่งเป็นผู้ดูแลโปรเจกต์นี้ของทาง อาร์เอส กรุ๊ป เปิดเผยว่า การร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ช่วยเพิ่มสีสัน และสร้างความแปลกใหม่ให้กับทั้งวงการเพลงไทย และวงการการตลาด กระแสความแรง ความพิเศษ และความสนุกที่จะเกิดขึ้นจาก 3 คอนเสิร์ตจากศิลปินกว่า 100 ชีวิต ในปีแรกนี้ คงเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะคำว่า SOLD OUT ในพริบตา คงเป็นสิ่งที่คาดการณ์ และพิสูจน์ได้ว่าปรากฏการณ์ระดับประเทศในครั้งนี้จะจบลงด้วยความสำเร็จอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันความร่วมมือในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่ปิดโอกาสการร่วมมือ ซึ่งการมีพาร์ตเนอร์ได้หลายรูปแบบเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสการทำธุรกิจสมัยใหม่ และอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจที่อาร์เอสได้เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนความร่วมมือระหว่างพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศยังอยู่ระหว่างการเจรจา

นอกจากนี้มองว่าการตั้งกิจการร่วมค้า (JV) สำหรับโปรเจกต์ดังกล่าวค่อนข้างสะดวกและลงตัวในการทำงานหลายๆ ด้านกว่าการตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคล ที่มีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากกว่า โดยรูปแบบความร่วมมือไม่ได้เป็นสาระสำคัญ ตราบใดที่สามารถดำเนินได้เป็นหัวใจสำคัญของการร่วมมือ อย่างไรก็ดี มีเงินลงทุนจากทั้งสองฝ่ายเท่ากันราว 100 ล้านบาทต่อสามคอนเสิร์ต

“อาร์เอส และ แกรมมี่ เป็นเพื่อนร่วมสร้างอุตสาหกรรมเพลงของไทยมาด้วยกัน ครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษมากๆ ที่เราได้มารวมตัวกันเพื่อสร้างปรากฏการณ์ความสุขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนให้กับแฟนๆ รวมถึงมอบความสุขให้กับศิลปินทั้ง 2 บริษัท ได้ร้องเพลง และเต้นกันแบบเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ในมุมของธุรกิจ ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในรูปแบบ JV เพื่อการจัดคอนเสิร์ต GRAMMY RS โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งสองฝ่ายลงทุนเท่ากัน ช่วย Support กันในทุกด้านของการทำงาน ในขณะเดียวกัน เราก็คาดหวังให้แฟนคลับ ศิลปิน ทีมงานทุกๆ คน มีความสุขจากการเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของคอนเสิร์ต GRAMMY RS ไปด้วยกัน” นายวิทวัส กล่าว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ