เปิดเบื้องลึกคดีฉาว การซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย.65 มูลค่ารวมเกือบ 4,500 ล้านบาท ที่น่าจะเรียกว่าเป็น “ปฏิบัติปล้นกลางแดด” หรือมหกรรมการโกงโบรกเกอร์ครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย!!
หลัง “ปิงปอง หรืออภิมุข บำรุงวงศ์” อดีตมาร์เกตติ้งวัย 30 ต้นๆ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของหุ้น MORE ส่งคำสั่งซื้อหุ้น MORE ผ่าน 11 โบรกเกอร์ หลังได้วางแผนขอเพิ่มวงเงินการซื้อหุ้นกับโบรกเกอร์ต่างๆล่วงหน้า โดยสั่งซื้อหุ้น MORE ที่ราคา 2.90 บาท กว่า 1,500 ล้านหุ้น ในราคาเปิดตลาด (ATO) ซึ่ง match หรือจับคู่กับคำสั่งขายหุ้นของนักลงทุน 20 กว่าราย ที่ตั้งขายที่ ราคา ATO เช่นกันทันที ก่อนที่หุ้น MORE จะถูกถล่มเทขายต่อเนื่องทั้งวัน กดราคาลงมาปิดตลาดที่ 1.95 บาท ลดลง 30% จากวันก่อนหน้า จนทำให้มูลค่าซื้อขายหุ้น MORE ทะยานขึ้นไปถึงกว่า 7,143 ล้านบาท สูงที่สุดในตลาด ก่อนที่ราคาหุ้นจะดิ่งลงฟลอร์ต่ออีก 30% ในวันที่ 11 พ.ย.65 ท่ามกลางความตื่นตระหนกของโบรกเกอร์ หลังตรวจสอบและได้สัญญาณจาก “อภิมุข บำรุงวงศ์” ว่าจะไม่มีการจ่ายเงินค่าซื้อหุ้น ที่จะครบดีลรับมอบหุ้นและจ่ายเงินค่าซื้อวันที่ 14 พ.ย.65
ส่งผลให้มีการเรียกประชุมฉุกเฉินในวันอาทิตย์ที่ 13 พ.ย.65 ของโบรกเกอร์ผู้ได้รับความเสียหาย พร้อมตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้ง “อภิมุข” และทนายความ รวมถึงมีการหารือเบื้องต้นกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่นำไปสู่การขอให้ ปปง.สั่งอายัดหรือ FREEZE การจ่ายเงินค่าขายหุ้น MORE ให้กับนักลงทุนมากกว่า 10 กว่าบัญชี!! ซึ่งจากการตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ถูกอายัดเงินค่าขายหุ้น ล้วนเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของ MORE แทบทั้งสิ้น!! รวมถึง “คิม-อธิพัธร พรประภา”
ดีลซื้อขายหุ้นอัปยศครั้งนี้ยังนำไปสู่การสั่งให้ บล.เอเชีย เวลท์ หยุดประกอบธุรกิจชั่วคราว สังเวยหุ้น MORE เพราะมีการนำเงินจากบัญชีหลักทรัพย์เพื่อลูกค้า ไปใช้ชำระค่าซื้อหุ้น ส่งผลให้ต่อมา “ชนะชัย จุลจิราภรณ์” ซีอีโอเอเชีย เวลท์ ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทันที
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ายื่นหนังสือ ขอให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเข้ามาช่วยตรวจสอบคดีนี้ ก่อนที่จะร่วมกับโบรกเกอร์เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ เอาผิดคดี “ฉ้อโกง” พร้อมส่งข้อมูลหลักฐานให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)
พล.ต.ท.จิรภพ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เผยว่า โบรกเกอร์ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นการร่วมกัน “ฉ้อโกง” โดยสงสัยว่าผู้ซื้อ 1 รายกับผู้ขาย 20 ราย น่าจะมีความเกี่ยวข้อง หรือเป็นกลุ่มขบวนการเดียวกัน ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ต้องสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียด รวมถึงตรวจสอบเส้นทางการเงินการทำธุรกรรมต่างๆ ขณะที่ฝั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยว่าการตรวจสอบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น MORE ครั้งนี้ไม่ได้เก็บข้อมูลหลักฐานแค่วันที่เกิดเหตุ แต่ได้ตรวจสอบเชิงลึกย้อนหลัง เพื่อหาข้อมูลรูปแบบของพฤติกรรมที่น่าสงสัยในประเด็นอื่นด้วย ทั้งคดีฉ้อโกงและการสร้างราคาปั่นหุ้น
แต่ทั้งหมดนี้มีประเด็นที่เป็นข้อกังขาและสงสัยว่าเบื้องลึกของการซื้อขายหุ้น MORE ครั้งนี้มันมีเบื้องหลังที่มากกว่า การจงใจเจตนาเบี้ยวจ่ายค่าหุ้นของ “อภิมุข” หรือไม่ อะไรเป็นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ “อภิมุข”เปิดหน้าเป็นจำเลยแต่เพียงผู้เดียว!!
มีข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันออกมาหลายกระแส ทั้งกรณีที่ว่า “อภิมุข” ต้องการแสดงความรับผิดชอบหลังชักชวน “คิม-อธิพัธร พรประภา” ให้เข้ามาซื้อหุ้น MORE ในราคาสูง และ “อธิพัธร” ต้องการ “ออกของ” แต่ถ้าขายออกมาปกติในกระดาน อาจถล่มราคาหุ้นให้ปรับตัวลงรุนแรงได้ “อภิมุข” จึงจำเป็นต้องเข้าไปรับซื้อคืนเอง
รวมทั้งกรณี ที่ “อภิมุข” นำพา “อธิพัธร” ให้มารู้จักกับ “เฮียม้อ” อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง เจ้าของหุ้น MORE ตัวจริงเสียงจริง และได้เจรจาดีลธุรกิจกัน มีการหยิกยกประเด็นการนำธุรกิจของ “พรประภา“ เข้าตลาดหุ้นทางอ้อม คล้าย Back door ผ่าน MORE ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้น MORE สูงขึ้น แต่การเจรจาน่าจะไม่สำเร็จผล ราคาหุ้นไปต่อไม่ได้ “อธิพัธร” จึงต้องการขายหุ้น MORE ออก
จากข้อมูลยังพบว่า ในการโยนคำสั่งซื้อขาย MORE ไม่ได้มีเพียง order ของ “อธิพัธร” และกลุ่ม “พรประภา” เท่านั้น แต่มีการโยนขายออกมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่ระดับ TOP 10 ด้วยหลายราย ขณะที่ตัว “เฮียม้อ” เอง ออกมายืนยันว่า ตนไม่ได้ขายหุ้นที่อยู่ในชื่อของตัวเองแม้แต่หุ้นเดียว!! อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า “อภิมุข” น่าจะมีกำไรจากการซื้อขายหุ้น MORE มาหลายรอบ เพราะเป็นนักเทรดที่อยู่ใกล้ชิดข้อมูล
ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและ สั่นคลอนสถานะของโบรกเกอร์ โดยเฉพาะการประเมินศักยภาพลูกค้า ที่ส่งผลถึงการให้วงเงินในการซื้อขายหุ้น เช่นกรณี “อภิมุข” ได้วงเงินเล่นหุ้นจากโบรกเกอร์มากกว่า 10 แห่งพร้อมๆกัน เกือบ 5,000 ล้านบาท และเมื่อเกิดปัญหาเขาเลือกที่จะเบี้ยวหนี้ไม่จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นแม้แต่บาทเดียว ถือเป็นอีกเหตุการณ์ที่สร้างรอยด่างให้กับตลาดหุ้นไทย.
อินเด็กซ์ 51