BGRIM เผยไตรมาส 1/65 กำไรลดลงหลังต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งจากสงคราม

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

BGRIM เผยไตรมาส 1/65 กำไรลดลงหลังต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งจากสงคราม

Date Time: 13 พ.ค. 2565 11:30 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • บี.กริม เพาเวอร์ เผยไตรมาส 1/65 กำไรลดลงหลังต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เตรียมเพิ่มสัญญาซื้อขายไฟไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้

Latest


บี.กริม เพาเวอร์ เผยไตรมาส 1/65 กำไรลดลงหลังต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เตรียมเพิ่มสัญญาซื้อขายไฟไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 65 ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 1/65 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากดังนี้

1. ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งจากลูกค้ารายเดิมและรายใหม่ 2. ราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น และ 3. ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าที่เติบโตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศไทยและ สปป. ลาว

ส่วนกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 23 ล้านบาท ลดลง 96.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม หรือ SPP ที่ลดลงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะที่การปรับตัวของราคาขายเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง

อย่างไรก็ตาม บี.กริม เพาเวอร์ ได้มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเตรียมการนำเข้า LNG ภายใต้สัญญาระยะยาวตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญา Terminal Usage Agreement กับ PTT LNG การควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งองค์กร การขยายธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม และการเติบโตจากเกือบทุกกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหลัก โดยประเมินว่าปริมาณการซื้อไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมจะเติบโตประมาณ 10-15% ในปีนี้

รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโครงการเดิม (SPP Replacement) ทั้ง 5 โครงการที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะลดอัตราการใช้ก๊าซลงราว 15% การปรับปรุงโรง BPWHA และ ABP4 รวมทั้งการนำเทคโนโลยี Digital Twins ร่วมกับ Siemens มาใช้ในการบำรุงรักษาโรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

จากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุการณ์ข้างต้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จึงได้มีการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าตามสูตร หรือ ค่า Ft 2 ครั้ง เริ่มจาก 16.17 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือน ม.ค. และ 23.38 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในเดือน พ.ค. และคาดว่าจะปรับอีกครั้งในเดือน ก.ย.

ด้วยเหตุนี้ประกอบกับการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม 88 เมกะวัตต์ ของกลุ่ม reNIKOLA ประเทศมาเลเซีย จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2565 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินการในช่วงเวลาที่เหลือของปี

ส่วนการเตรียมความพร้อมภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บี.กริม เพาเวอร์ มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีเงินสดในมือกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 53 โครงการ การได้รับการอนุมัติขยายวงเงินหุ้นกู้เป็นไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ผ่านมา และการสนับสนุนจากหลายสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมและความคล่องตัวในการบริหารด้านการเงิน รองรับการเติบโตของธุรกิจ และโอกาสในการลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ยังมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกลุ่มทรู เพื่อร่วมมือพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจพลังงาน

ประกอบด้วย 1. การพัฒนาระบบโครงการพื้นฐานดิจิทัลด้วยพลังงานอัจฉริยะ 2. การพัฒนาโครงการนวัตกรรม Smart Grid ผ่านเทคโนโลยี 5G 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. การพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่และการส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ส่วนความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีนี้มีอีกหลากหลายโครงการ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อู่ตะเภา เฟส 1 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 18 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง

ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 65% โดยมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปลายปี 2565 และโครงการโรงไฟฟ้า BGPAT2 & BGPAT3 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งแห่งละ 140 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 53 โครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตรวมของโครงการใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 กิกะวัตต์ภายในปีนี้ ทั้งจากโครงการที่ก่อสร้างใหม่และการเข้าซื้อกิจการตั้งอยู่ในหลากหลายประเทศ โดยยังคงเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ