เปิดงบ 4 หุ้นปั๊มน้ำมัน พบ PTG กำไรพุ่งสุด 211% รับยอดขายน้ำมัน-พันธุ์ไทย ส่องอนาคตใครน่าสนใจสุด?

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดงบ 4 หุ้นปั๊มน้ำมัน พบ PTG กำไรพุ่งสุด 211% รับยอดขายน้ำมัน-พันธุ์ไทย ส่องอนาคตใครน่าสนใจสุด?

Date Time: 13 พ.ย. 2567 12:41 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ส่องผลงาน "หุ้นปั๊มน้ำมัน" ไตรมาส 3/67 พบ 2 บริษัทขาดทุนสุทธิ ได้แก่ OR และ BCP ขณะที่อีก 2 บริษัท คือ PTG และ SUSCO กำไรสุทธิมีการเติบโต อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่มองว่าทิศทางของธุรกิจปั๊มน้ำมัน จะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4/67 ส่วนหนึ่งมีจากปัจจัยฤดูกาลที่จะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น

Latest


“หุ้นปั๊มน้ำมัน” หนึ่งในธุรกิจที่นักลงทุนมักให้ความสนใจ จากสามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอ และมีโอกาสเติบโตจากความต้องการใช้น้ำมันของยานยนต์และการขนส่งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจในแง่ของความมั่นคงทางการเงิน เพราะบริษัทเหล่านี้มักมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

ในตลาดหุ้นไทย มีบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่

  • บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น OR เจ้าของปั๊มน้ำมัน ปตท.
  • บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น PTG เจ้าของปั๊มน้ำมัน พีที
  • บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น BCP เจ้าของปั๊มน้ำมัน บางจาก
  • บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SUSCO เจ้าของปั๊มน้ำมัน ซัสโก้

ซึ่งหากย้อนไปดูผลประกอบการไตรมาส 3/67 ที่เพิ่งประกาศออกมานั้น พบว่ามีจำนวน 2 บริษัทที่รายงานขาดทุนสุทธิ ได้แก่ OR และ BCP โดยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวน และปัจจัยเฉพาะตัว ขณะที่อีก 2 บริษัท คือ PTG และ SUSCO กำไรสุทธิมีการเติบโตได้ดีจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่มองว่าทิศทางของธุรกิจปั๊มน้ำมัน จะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4/67 ส่วนหนึ่งมีจากปัจจัยฤดูกาลที่จะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น ดังนี้

OR  ขาดทุน 1.6 พันล้าน ราคาน้ำมันตลาดโลกกดดัน-รับผลปิด “เท็กซัส ชิกเก้น”

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น OR รายงานไตรมาส 3/67 ขาดทุนสุทธิ 1,609 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 5,170 ล้านบาท โดยหลักมาจาก EBITDA ที่ลดลงจากทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global ปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ได้รับผลกระทบจากการยุติธุรกิจเท็กซัส ชิคเก้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น (Extra item)

สำหรับทิศทางในอนาคตของ OR นั้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า กำไรไตรมาส 4/67 ของ OR คาดจะปรับตัวดีขึ้นทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และฟื้นตัวจากไตรมาส 3/67 เนื่องจากกำไรจากทุกธุรกิจที่เพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วงหนุนราคาหุ้นได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากรวมผลประกอบการไตรมาส 3/67 ในประมาณการ เราปรับลดประมาณการกำไรหลักปี 2567 ลง 37% มาอยู่ที่ 6,030 ล้านบาท หรือลดลง 46% จากปีก่อน และปรับเป้าหมายการลงทุนขั้นพื้นฐานไปเป็น ณ สิ้นปี 2568 ด้วยราคาเป้าหมายใหม่ที่ได้มาจากวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) ที่ 17 บาท ยังคงคำแนะนำ “ถือ”

PTG  กำไรพุ่ง 211% จากยอดขายน้ำมัน-พันธุ์ไทย

บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น PTG ประกาศไตรมาส 3/67 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 24 ล้านบาท จากการเติบโตของยอดขายในธุรกิจน้ำมันผ่านทุกช่องทางที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจ Non-Oil โดยเฉพาะสาขาร้านกาแฟพันธุ์ไทยที่ขยายตัว

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า ไตรมาส 4/67 จะสามารถเติบโตได้ จากยอดขายน้ำมันที่เร่งตัวตามกิจกรรมเดินทางท่องเที่ยวช่วงปลายปี ผ่านพ้นฤดูมรสุม และการเร่งกลยุทธ์บัตรสมาชิก PT Max card โดยธุรกิจ Non-oil คาดได้อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 หมื่นบาท ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภค โดยคาดการณ์กำไรปกติปี 2567 ที่ 1.1 พันล้านบาท ยังไม่มี Downside

ทั้งนี้ คงประมาณการปี 2568 มีการเติบโตของกำไรปกติคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท หนุนจากปริมาณขายน้ำมันเพิ่มขึ้นตามการขยายสาขา, กลยุทธ์ PT Max Card, อุปสงค์ภาคท่องเที่ยว ขณะที่อัตรากำไรคาดอยู่ในเกณฑ์ดีหลังแรงกดดันภายใต้มาตรการควบคุมราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐคลายตัว สอดคล้องต้นทุนน้ำมันลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ คงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ช่วงหุ้นอ่อนตัวลุ้นฟื้นตัวในไตรมาส 4/67 ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2568 ที่ 11.00 บาท

BCP ขาดทุน 2 พันล้าน ค่าการกลั่นลด-ปริมาณขายหด

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น BCP รายงานไตรมาส 3/67 มีผลขาดทุนสุทธิ 2,093 ล้านบาท ลดลง 119% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,011 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากธุรกิจโรงกลั่นที่ค่าการกลั่นพื้นฐานที่ปรับตัวลดลง และรับรู้ขาดทุนจากสต็อกน้ำมันกว่า 5.1 พันล้านบาท พร้อมระบุว่าธุรกิจการตลาด มีปริมาณการขายน้ำมันลดลง จากผลกระทบจากการเข้าสู่ฤดูฝนและน้ำท่วม ทำให้การเดินทางและการท่องเที่ยวชะลอตัวลง

สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/67 นั้นขาดทุนเป็นไปตามคาด และเชื่อว่าแนวโน้มไตรมาส 4/67 กลับมาทำกำไรอีกครั้งจากขาดทุนจากสต็อกน้ำมันก้อนใหญ่หายไป ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นกลับมากลั่นเพิ่มขึ้น และค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น ส่วนกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล รวมถึงจะมีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนตามเงินบาทอ่อนค่าด้วย

นอกจากนี้ คาดว่ากำไรปีหน้าจะเติบโตเด่นจากขาดทุนสต็อกน้ำมันหายไป กำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นและผลบวกจาก Synergy กำไรของธุรกิจ OKEA เพิ่มขึ้น ตามปริมาณการผลิตจาก 3.6-4 หมื่นบาร์เรล/วัน เป็น 5 หมื่นบาร์เรล/วัน และการเริ่มรับรู้กำไรจากโรงงานผลิตใหม่ขนาด 1 ล้านลิตร/วัน คาดเดินเครื่องไตรมาส 2/68 คงคำแนะนำ “ซื้อ” จาก Valuations อยู่ในโซนต่ำ ทั้งนี้ ปรับลดราคาเป้าหมายใหม่เป็น 44 บาท ตามประมาณการกำไรที่ปรับลง

SUSCO กำไรพุ่ง 18% หลังขายส่งน้ำมันโตทั้งในและต่างประเทศ

บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SUSCO ระบุในงบการเงินว่า ไตรมาส 3/67  บริษัทมีกำไรสุทธิ 77.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 65.45 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมโต 7.36% จากรายได้จากการขายน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จากปริมาณการขายส่งน้ำมันในประเทศ และการส่งออกน้ำมันไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น และรายได้อื่นเพิ่มขึ้น จากการกลับรายการรายได้รับล่วงหน้าค่าสนับสนุนช่วยเหลือทางการตลาด เป็นรายได้อื่น ซึ่งรายการดังกล่าวมีต้นทุนในการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ SUSCO มีการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ จากการเปิดโชว์รูมขายรถ BYD และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เช่า ผ่านบริษัทลูก “ซัสโก้ บียอนด์” นั้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ไตรมาสที่ 4/67 จะเป็นไตรมาสที่โดดเด่น จากการส่งมอบ EV ที่เพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะส่งมอบจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 1,000 คัน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ค้างอยู่ตั้งแต่ไตรมาส 3/67 และคำสั่งซื้อจำนวนมากที่มีแนวโน้มสำหรับรถรุ่นใหม่ของ BYD Sealion 6 Dual Mode i5.0 

ทั้งนี้ คงคำแนะนำ “ถือ” แต่ปรับราคาเป้าหมายใหม่ที่ 3.60 บาท เพื่อสะท้อนถึงการปรับลดกำไรต่อหุ้น (EPS) ลง 15-34% ในปี 2567-2569 เนื่องจากปริมาณการขาย EV ที่ต่ำกว่าคาดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่การส่งมอบ EV ที่จะเกิดขึ้นมากกว่า 1,000 คันนั้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นกำไรที่สำคัญสำหรับ SUSCO ซึ่งคาดว่าจะทำกำไรสุทธิไตรมาส 4/67 ได้มากกว่า 140 ล้านบาท

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ