บล.ไทยพาณิชย์ ประเมิน วัฏจักรเศรษฐกิจโลก ไทยเปลี่ยนจากภาวะ reflation เข้าสู่ภาวะ stagflation ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ SET Index ที่ 1660 จุด
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 65 นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ Chief Research Officer บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS กล่าวว่า ต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลทำให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตลงและทำให้เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจเปลี่ยนจากภาวะ reflation เข้าสู่ ภาวะ stagflation
ทั้งนี้ แม้ว่าโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2022 จะมีมากขึ้น แต่จะเกิดภาวะถดถอยที่ไม่รุนแรงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันไม่ได้มีความไม่สมดุลมากจนต้องแก้ไขให้เกิดความสมดุลควบคู่ไปกับการผ่อนคลาย ข้อจำกัดการเดินทางและการเปิดประเทศ เป้า SET Index ปี 2022 อิงกับปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,660 จุด เข้าซื้อที่ 1,550-1,600 จุด ขณะที่ระดับขายทำกำไรอยู่ที่สูงกว่า 1,780 จุด
คาดว่า SET จะปรับฐานเล็กน้อยใน 2Q22 เพื่อซึมซับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ stagflation ขณะที่ครึ่งปีหลังจะมีโมเมนตัมที่ดีขึ้นซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย ประกอบกับฐานต่ำของปีก่อนมีโอกาสสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ Sell in May โดยการย่อตัวลงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้าง position เนื่องจากเศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะเกิดภาวะ quasi - reflation ในครึ่งปีหลัง 65
ด้านเศรษฐกิจไทยผลกระทบจากวิกฤติรัสเซียโดยตรงอาจไม่มากนัก แต่ผลกระทบโดยอ้อมผ่านราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะกระทบกับเงินเฟ้อและนโยบายการเงินมากกว่า วิกฤติพลังงานทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ stagflation ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นความเสี่ยงด้านนโยบายที่อาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.63% ในขณะที่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ stagflation ย่อมมีมากขึ้น ส่วนความเสี่ยงด้านการส่งผ่านทางการเงินมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ แต่ความเสี่ยงในการโอนย้ายและการปรับโครงสร้างพอร์ตลงทุนอาจต้องใช้เวลาในการจัดการ
SCBS มองว่าหุ้นเชิงรับจะปรับตัว outperform ได้อย่างต่อเนื่อง หุ้นพลังงานต้นน้ำเป็นตัวเลือกที่ดีในการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อสูง โดยยังคงชอบหุ้นคุณภาพที่มีค่า beta ต่ำเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวน
กลยุทธ์การลงทุน มองภาพรวมปี 2022 เน้นไปที่ธีมมหภาคและจุลภาคประกอบด้วย 1. หุ้นที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง (มาร์จิ้นสูงและมีเสถียรภาพ) 2. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ
3. หุ้นเติบโตที่มีราคาสมเหตุสมผล และ 4. หุ้นคุณภาพ ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นเชิงรับเพื่อยึดหลักความระมัดระวังในช่วงที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงโดยเชื่อว่าหุ้น domestic ที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสูงและงบดุลแข็งแรงน่าจะได้รับความสนใจมากกว่าหุ้นที่อิงกับวัฏจักรเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกหนักกว่าหุ้น domestic นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นไปที่หุ้นที่สามารถรับมือกับราคาน้ำมันและเงินเฟ้อสูง โดยหุ้นเด่นใน 2Q22 คือ AOT BDMS CRC GULF และ PTTEP โดยสรุปประเด็นการลงทุนของหุ้นรายตัว
AOT : เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งคาดผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวดีขึ้นจากแผนเดินหน้าสู่การเปิดประเทศ ขณะที่ Valuation น่าสนใจ หลังราคาหุ้นปัจจุบันยังเทรดต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด อยู่ 12%
BDMS : ทนทานความผันผวนของตลาดได้ดีและมีพื้นฐานแกร่ง โดยปี 65 คาดกำไรเติบโต 21%YoY จากจำนวนผู้ป่วย ทั้งไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย
CRC : คาดผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตดีที่สุดในกลุ่มพาณิชย์ในปี 2565 จากยอดขายค้าปลีกและรายได้ค่าเช่าที่ฟื้นตัว การขยายสาขาเชิงรุก และอัตรากำไรที่ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและไม่มีการล็อกดาวน์
GULF : แนวโน้มกำไรขยายตัวต่อเนื่องจากกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าใหม่ IPP ที่มีความเสี่ยงต่ำด้านต้นทุนพลังงาน และการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจดิจิทัล
PTTEP : ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดราคาน้ำมันดิบ Brent +5.3%DoD WTI +5.2%DoD หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันตึงตัวจากการระงับส่งออกน้ำมันของบริษัท CPC ในคาซัคสถานซึ่งเสียหายจากพายุ