เปิดแผนกระทรวงการคลังนำ "การบินไทย" กลับมาเป็นรัฐวิสหกิจ อีกครั้ง ให้กองทุนวายุภักษ์ ขายหุ้น ให้ "ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์" ที่คลังถือหุ้น 100% เพื่อให้ใส่เงินเสริมสภาพคล่อง ขณะที่ "คมนาคม" ลุยค้านแหลก กระทบเพดานหนี้สาธารณะ เพิ่มเข้ามาทันที 3 แสนล้านบาท แถมต้องนำภาษีอากรของคนทั้งชาติมาจ่ายให้อีกปีละ 5 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่า ที่ทำเนียบรัฐบาลได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง
พร้อมตัวแทน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) บริษัท ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย และ บริษัท การบินไทยจำกัด เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้นำเรื่องการแก้ไขปัญหาการบินไทย ในแนวทางที่จะให้นำกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกครั้งหนึ่ง โดยทางกระทรวงการคลังรายงานว่า ปัจจุบัน ถือหุ้น การบินไทย 47.86% และล่าสุดการบินไทย ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า กองทุนวายุภักษ์ มีการขายหุ้น การบินไทย
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานว่า ทางกระทรวงการคลังจะให้บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส.เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วนตั้งแต่ 2.15% ขึ้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกครั้ง ตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ และ พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ และพ.ร.บ. อื่น ๆ
ในเรื่องการที่จะนำการบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกครั้งนั้น ทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคมนาคม ได้มีความเห็นไม่ตรงกัน ในส่วนที่จะดำเนินการกับสถานะของการบินไทย ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลว่า หากให้ ธพส. ไปซื้อหุ้นการบินไทย จะทำให้สถานะของการบินไทย กลับมาเป็นของรัฐอีกครั้ง เนื่องจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นรัฐถือหุ้นสูงสุด ขณะเดียวกันจะสอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงคลัง เสนอมายังที่ประชุมเพื่อให้รัฐสามารถค้ำประกันเงินกู้ได้ หากมีการเพิ่มทุน
โดยกระทรวงคมนาคมเห็นว่า หากมีการค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย จะเกิดภาระกับรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมาร่วม 300,000 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม ที่มีอยู่ 200,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า หากให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตามมติ ครม. ในปี 47 มีกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 100% มีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนก่อสร้างอาคารและบริหารอสังหาริมทรัพย์ โดยบริหารจัดการทรัพย์สินอื่นของรัฐตามนโยบายรัฐบาล นั้น จะเข้ามาถือหุ้นใน บริษัทการบินไทย จะเป็นการเกินอำนาจวัตถุประสงค์ของ บจก.ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ที่ก่อตั้งขึ้นมาหรือไม่ (Ultra Vires )
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์ นัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2564 วันนี้ (28 เม.ย. 64) ซึ่งในระเบียบวาระการประชุม ข้อที่ 8 พิจารณาอนุมัติเพิ่มวัตถุประสงค์ของบริษัทและการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 3 ของบริษัท จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการดำเนินการเพิ่มวัตถุประสงค์ให้สามารถลงทุน/ถือหุ้นในการบินไทยได้ เพื่อการเข้าซื้อหุ้นต่อจาก กองทุนวายุภักษ์
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินการนี้ ไม่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีการยกเว้นแต่เป็นการลงทุนเกิน 25% หรือการร่วมลงทุนในบริษัทในเครือ ซึ่งต้องนำเสนอกระทรวงเจ้าสังกัด คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คนร. และ ครม. แต่ในทางปฏิบัติ การลงทุนของธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ต้องกระทำผ่านการพิจารณาโดยผู้บริหาร/คณะกรรมการบริษัท ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลัง แทบทั้งสิ้น ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มซื้อหุ้น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้นั้นจะต้องมีแนวทางที่แน่ชัดจาก กระทรวงการคลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในที่ประชุม มีความเป็นห่วง หากจะนำบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กลับเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกครั้ง ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. การบริหารจัดการหนี้ หลังจากที่กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกครั้ง เรื่องนี้จะส่งผลต่อตัวเลขหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นมา จากวันที่พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอยู่ 220,000 ล้าน แต่วันนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้าน ซึ่งจะถูกโอนมาเป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งก็คือภาษีอากรของประชาชน ในทันที
2. รัฐจะต้องนำงบประมาณไปสนับสนุนให้บริษัทการบินไทย ปีละ 5 หมื่นล้านบาท ตามค่า KPI ทำให้รัฐต้องเข้าไปค้ำประกันไม่น้อยกว่า 3- 5 ปี กว่า บริษัทการบินไทย จะกลับมามีกำไร
3. เกิดข้อครหาจากประชาชน เพราะเมื่อ 9 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ดำเนินการขายหุ้น จนทำให้การบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ทำไมวันนี้มาเสนอให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นการตบตาประชาชนหรือไม่
4. ความเสี่ยงจากที่อยู่กับเอกชน เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจ ความเสี่ยงจะกลับมาอยู่กับภาครัฐในทันที
5. การดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ที่กระทรวงคมนาคม เสนอไว้ ได้พยายามดำเนินการหรือยัง และหากยังไม่ดำเนินการ มั่นใจได้อย่างไรว่าจะฟื้นฟูไม่สำเร็จ