กระทรวงการคลังชง 2 ทางเลือกต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้ ครม. 17 พ.ค.นี้ ตัดสินใจ ระหว่างลดลงลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือลดลงลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 1-2 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ค.นี้ กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยลดปัญหาราคาน้ำมันดีเซลแพง หลังจากมาตรการที่ลดภาษีดังกล่าวลิตรละ 3 บาท จะหมดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้ โดยแนวทางการต่ออายุการลดภาษี ได้มี 2 แนวทางให้เลือก คือ แนวทางแรก การขยายระยะเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซลในอัตราลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.-20 ก.ค. 65 และแนวทางที่ 2 ลดภาษีน้ำมันดีเซลในอัตราลิตรละ 5 บาท แต่ระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน อาจ 1-2 เดือน โดยทั้ง 2 แนวทางจะใช้งบประมาณราว 20,000 ล้านบาท เพื่อมิให้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 มากเกินไป
ส่วน ครม.จะเลือกแนวทางใด ต้องรอกระทรวงพลังงาน เสนอผลการศึกษาและประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกด้วย ซึ่งล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นตลาดอ้างอิงของไทย ปรับลดลงจากเดิม 103-105 เหรียญฯต่อบาร์เรล เหลือ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรลแล้ว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับมาตรการภาษีน้ำมัน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ว่าจะขยายระยะเวลาลดภาษีดีเซลและลดภาษีเพิ่มเติม จากปัจจุบันลิตรละ 3 บาทหรือไม่ ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาผลการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐว่ามีส่วนเกินมากน้อยเพียงใด หากเก็บภาษีเกินเป้าได้จำนวนมาก ก็จะทำให้มีรายได้ส่วนเกินที่จะนำมาใช้สนับสนุนมาตรการนี้ต่อได้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีข้อสรุปก่อนมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค.นี้อย่างแน่นอน
“การขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้แน่นอน โดยการลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 1 บาท จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 1,900 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการขยายระยะเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซลต้องไม่กระทบต่อรายได้รัฐมากนัก ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรมสรรพสามิต รวมถึงประชาชนด้วย ถ้าราคาน้ำมันตลาดโลกลงมา ประชาชนอาจไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก แต่ถ้าราคายังสูง ประชาชนก็ต้องช่วยแบกรับภาระด้วยส่วนหนึ่ง”
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด โดยเฉพาะการจัดการงบประมาณที่นำมาอุดหนุนโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องขอประเมินการจัดเก็บรายได้และผลกระทบต่อฐานะการคลังให้ชัดเจนอีกครั้ง ก่อนเสนอนายกฯพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ การใช้เงินในโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 จะมาจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือ 70,000 ล้านบาท ส่วนจะเพียงพอและจำเป็นต้องมีการกู้เงินมาใช้เพิ่มเติมหรือไม่ จะต้องประเมินการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในเดือน เม.ย.นี้ก่อนรวมถึงเงินที่เรียกคืนมาจากโครงการคนละครึ่งในระยะที่ 4 ด้วย และต้องจับตาดูการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว จะเป็นส่วนช่วยหนุนรายได้ของภาครัฐให้ดีกว่าประมาณการไว้เดิมมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้แนวโน้มท่องเที่ยวอยู่ในสัญญาณที่ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเก็บรายได้ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564-มี.ค.2565) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิรวม 1.09 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 68,800 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 6.8% ขณะที่นายอาคม กล่าวเพียงสั้นๆว่า ขอเวลาพิจารณา และยังมีเวลาพิจารณาทั้งมาตรการขยายการลดภาษีน้ำมัน และคนละครึ่งเฟส 5.