ราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการที่ลดลงและอุปทานน้ำมันล้นตลาด แม้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลางจะยังไม่คลี่คลาย โดยปัจจุบันสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ประมาณ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ประมาณ 68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC+ ขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปเรื่อย ๆ เพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ต่ำลงไปอีก
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา OPEC+ ได้ขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจต่อไปที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม จากเดิมที่นโยบายดังกล่าวจะต้องสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมในเดือนกันยายน โดยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันได้ตัดสินใจที่จะขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันไปอีกสองเดือน
หลังโควิด ราคาน้ำมันถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะความต้องการจากลูกค้ารายใหญ่อย่างจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ นอกจากนี้อุปทานน้ำมันล้นตลาดจากผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญนอกกลุ่มพันธมิตรโอเปก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา กายอานา และบราซิล ซึ่งวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ก็เป็นปัจจัยหลักที่ฉุดราคาน้ำมันให้ตกต่ำลง สอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกของกลุ่ม OPEC+ โดยในปี 2568 คาดว่าความต้องการน้ำมันจะลดลงเหลือ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ด้านนักวิเคราะห์หลายแห่งให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำมันในปี 2568 มีแนวโน้มจะปรับลดลงอย่างรุนแรง จากอุปทานน้ำมันส่วนเกินที่เพิ่มขึ้น หาก OPEC+ ยุตินโยบายลดกำลังการผลิตน้ำมัน และไม่มีการสร้างข้อตกลงที่ชัดเจนในการควบคุมการผลิตน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันเป็นไปด้วยความสมัครใจ
Martoccia Francesco นักยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของ Citibank มองว่า ในปีหน้าหาก OPEC+ ดำเนินการตามแผนการผลิตเดิมต่อไป ปริมาณน้ำมันส่วนเกินในตลาดอาจเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า โดยอาจสูงถึง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง เนื่องจากทรัมป์มีจุดยืนต่อต้านกฎหมายแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลโจ ไบเดน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะการผลิตน้ำมัน ซึ่งสร้างรายได้ให้สหรัฐฯ อย่างมหาศาล โดยทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน โดยอนุญาตให้มีการขุดเจาะน้ำมันในดินแดนป่าในแถบอาร์กติก ซึ่งเขาอ้างว่าจะช่วยลดต้นทุนพลังงานลงครึ่งหนึ่ง ทำให้ราคาพลังงานถูกลง รวมถึงสงครามการค้ากับจีนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นจากนโยบายกำแพงภาษี ก็เป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันเช่นกัน หากนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง คาดว่าเราอาจเห็นราคาน้ำมันดิบร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ที่มา
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney