กองทุนนํ้ามันถังแตก ใช้รอบทิศจนบิดเบี้ยว

Investment

Oil

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กองทุนนํ้ามันถังแตก ใช้รอบทิศจนบิดเบี้ยว

Date Time: 8 พ.ย. 2564 06:21 น.

Summary

  • ปรากฏการณ์ “กระแสร้อนน้ำมันแพง” จากความต้องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลัง “เศรษฐกิจฟื้นตัว” จากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจนทำให้ “กลุ่มประเทศโอเปกพลัส” ควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมัน

Latest

น้ำมันโลกขาลง แม้ OPEC ยื้อเวลาลดการผลิต นโยบายทรัมป์จุดเปลี่ยน  ฉุดราคาปี 68 เหลือ 40 ดอลลาร์

ปรากฏการณ์ “กระแสร้อนน้ำมันแพง” จากความต้องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลัง “เศรษฐกิจฟื้นตัว” จากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจนทำให้ “กลุ่มประเทศโอเปกพลัส” ควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันลดลงช่วงนี้

กลายเป็นผลกระทบต่อ “ประเทศไทย” ที่มีการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลักกว่าร้อยละ 90 ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับตัวในเดือน ก.ย.จำนวน6ครั้ง ครั้งละ 40-60 สตางค์ต่อลิตร “ภาครัฐ” ก็พยายามใช้กลไกเข้ามารักษาเสถียรภาพ แต่ด้วยน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงตลอด ทำให้ราคาน้ำมันบางชนิดสูงเช่นเดิม

เงื่อนกลไกราคาน้ำมัน รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯบอกว่า ประเทศไทยใช้น้ำมันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มเบนซิน 5 ชนิด” ...น้ำมันมีส่วนผสมเอทานอลแก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ E20E85และเบนซิน 95 กลุ่มดีเซล 4 ชนิด เช่น น้ำมันดีเซล B7 น้ำมันดีเซล B20 B10 และดีเซลพรีเมียม

ราคาน้ำมันถูกเก็บเงิน 3 ส่วน คือ 1.ค่าการตลาดไม่รวมภาษีของผู้ประกอบการ 2.ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บเข้างบประมาณแผ่นดิน3.เก็บเข้ากองทุน 2 กองทุนคือ กองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงาน...โดยเฉพาะ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” มักทำให้ราคาขายปลีกเบนซิน 95 ปรับตัวสูงลิตรละ 39.96บาท หน้าโรงกลั่น 22 บาท/ลิตร แล้วบวกภาษีสรรพสามิต 6.50 บาท

ภาษีเทศบาล 10% ของภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมัน 6.58 บาท/ลิตร กองทุนอนุรักษ์ 10 สตางค์/ลิตร ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.5 บาท/ลิตร ค่าการตลาด 1.05 บาท/ลิตร

ถัดมา “แก๊สโซฮอล์ 95, 91” ขายปลีก 32 กว่าบาท/ลิตร ภาษีสรรพสามิต 5.85 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมัน 0.6 สตางค์ “E20” ขาย 31.04 บาท ภาษีสรรพสามิต 5.2 บาท/ลิตร แล้วนำเงินกองทุน 2.2 บาท/ลิตร

แต่พอมา “E85” ขายปลีก 24.44 บาท/ลิตร ใช้น้ำมันเอทานอลมาผสม 85% และเบนซิน 95 จำนวน 15% ภาษีสรรพสามิตภาษีเก็บเฉพาะเนื้อน้ำมันเบนซิน95 เท่ากับ 0.97 สตางค์ นำเงินกองทุน 7.13 บาท อันเป็นอัตราอุดหนุนสูงในช่วงโรคระบาดนี้ขอให้ยกเลิกขาย E85 ที่ต้องรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินไป

หากย้อนดู “การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ม.5 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ในระดับเหมาะสมกรณีที่เกิดวิกฤติด้านน้ำมัน เพราะสมัยหนึ่งน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้นมากจน “ประเทศไทย” ต้องหากลไกทางเลือกให้ราคาขายปลีกถูกลง

เหตุนี้จึง “นำน้ำมันชีวภาพจากพืชธรรมชาติมาผสมน้ำมันฟอสซิล” ที่เป็นการส่งเสริมเกษตรกรปลูกปาล์ม 5-6 ล้านไร่ สกัดเป็นไบโอดีเซลมาผสมน้ำมันดีเซลจากแนวคิดช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้

ความจริงแล้ว “ปาล์ม” มีผลผลิตมากในเดือน ก.พ.-เม.ย.ทุกปีที่เป็นช่วง “ราคาตกต่ำ” แล้วก็ทำให้ “พ่อค้าคนกลาง 5 เสือ” เข้ามากวาดซื้อเก็บตุนรอจังหวะปั่นราคาขึ้น เช่นเดียวกับ “เอทานอลนำมาผสมน้ำมันเบนซิน”ผลผลิตจากกากน้ำตาล มันสำปะหลังก็มีโรงงานเข้ามาซื้อเก็บไว้เช่นกัน

ด้วยกลไก “ซื้อขายน้ำมันชีวภาพมักเป็นรูปแบบประมูล” ทำให้ได้ราคาต่ำสุดไม่ตรงกับราคากลางตั้งไว้ สะท้อนว่า “น้ำมันชีวภาพทำนองบังคับซื้อขาย” อันเกิดจากภาครัฐกำหนดไว้นี้มักตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคา “ประชาชน” ไม่มีสิทธิต่อรองได้แล้วอย่างนี้ “เกษตรกร” ได้รับผลประโยชน์เพียงใด

สิ่งนี้ทำให้ปัจจุบันนี้ “น้ำมันชีวภาพราคาแพงกว่าน้ำมันตลาดโลก” เช่น เอทานอล 25.15 บาท/ลิตร ไบโอดีเซล 47.42 บาท/ลิตร ดังนั้นแล้วยิ่งนำน้ำมันชีวภาพเติมในน้ำมันฟอสซิลมากเท่าไหร่ยิ่งมีราคาแพงเท่านั้น...ฉะนั้น “รัฐบาล” มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรได้แต่ “ไม่ควรผลักภาระให้ผู้ใช้น้ำมัน” ต้องบททวนพิจารณาเปลี่ยนแปลงกลไกใหม่ โดยเฉพาะ “น้ำมันเบนซินแพง” ในช่วงนี้ผู้ใช้รถต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือดร้อนลำบากกว่าเดิมแล้ว “เปิดประเทศ 1 พ.ย.” ต้องมาเจอแบบนี้หลายคนอาจไม่อยากเดินทางท่องเที่ยวก็ได้

ด้วยเหตุที่ว่า “คนใช้เบนซินเสียภาษีสรรพสามิตแล้วยังถูกเก็บเงินกองทุนน้ำมัน” เป็นเงินออมใช้ยามน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ แต่กลับเอาไปชดเชยน้ำมันชีวภาพผสมน้ำมันทุกชนิดแล้วใช้กองทุนน้ำมันมาอุ้มดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท เพราะรัฐบาลไม่ยอมลดภาษีน้ำมันดีเซลอีกด้วย

ย้ำว่าช่วงหลายปีมานี้ “เงินกองทุนน้ำมันถูกใช้เพิ่มขึ้น” ตอนนี้เหลือเงิน 8 พันล้านบาทแล้วมีแผนกู้เงินมาเข้ากองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้านบาทแต่ก็มิใช่นำมาทดแทน “น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันเบนซิน” กลับใช้ชดเชยน้ำมันชีวภาพ และภาษีน้ำมันของรัฐบาลที่เข้าข่ายผิดวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันด้วยซ้ำ

ประการต่อมา “การเก็บภาษีสรรพสามิต” สมัยยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เก็บไม่เกิน 5 บาท/ลิตร แล้วปรับเพดานเป็น 7 บาท/ลิตร เก็บได้สูงสุด 1.5แสนล้านบาท/ปี ไม่นานน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลกระทบต่อประชาชน จนกำหนดปรับลดส่วนอื่นแทนไม่ให้ดีเซลเกิน 30 บาท/ลิตรที่ปฏิบัติกันมาในทุกรัฐบาลนี้...แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมี “รัฐบาลชุดใด” มีแนวคิดกู้เงินมาใส่กองทุนน้ำมันฯ ใช้ชดเชยภาษีสรรพสามิต และน้ำมันชีวภาพราคาแพงกว่าน้ำมันดีเซลในตลาดโลกขณะนี้เหมือนดัง “รัฐบาลยุคนี้”

เพราะสิ่งสำคัญตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ม.5 ระบุชัดเจนว่าต้องใช้เงินกองทุนในกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันในตลาดโลกแพงเป็นหลัก

ทำให้ชวนตั้งคำถามว่า “แบบนี้ผิดวัตถุประสงค์การตั้งกองทุนน้ำมันหรือไม่” ทั้งที่รัฐบาลมีพื้นที่เก็บภาษีสรรพสามิตมาตลอด 7 ปีมานี้ได้มากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท แม้แต่ประชาชนขอลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทชั่วคราว 1ปี ในช่วงเจอความลำบากจากโรคระบาดก็ไม่ยอมรับฟังเลยด้วยซ้ำ

แม้ว่า พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ บทเฉพาะกาลเปิดช่องหากจำเป็นนำเงินกองทุนใช้ชดเชยน้ำมันชีวภาพทำได้ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2565 แล้วต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ด้วยเงื่อนไขต้องทำแผนการใช้เงิน กองทุนชดเชยน้ำมันชีวภาพให้ลดน้อยลงทุกปี แต่ตอนนี้ใกล้ครบ 3 ปี...

น่าสนใจว่ารัฐบาลยังมียอดใช้เงินกองทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

หากว่า “รัฐบาล” ไม่ยอมลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทแล้วล้วงเงินกองทุนมาชดเชยด้วยการไปกู้เงินมานี้อาจต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอันมีลักษณะเข้าข่ายผิดวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯหรือไม่?... “น้ำมันเป็นต้นทุนทางตรงของระบบเศรษฐกิจทุกชนิดจำเป็นต้องเซฟต้นทุนให้น้อยที่สุด เพื่อธุรกิจทั้งหลายมีต้นทุนต่ำก็จะมีกำไรมากขึ้นแล้ว “รัฐบาล” ควรเก็บภาษีจากรายได้บุคคลธรรมดา หรือกำไรของนิติบุคคลตามจริง แต่กลับลดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% เหลือ 20% แล้วมาเก็บภาษีน้ำมันแพงจึงผิดหลักการ”

ผลตามมา “ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP มีระดับสูงร้อยละ 20” นั้น หมายความว่าสินค้าต้นทุน 100 บาท ถูกต้นทุนน้ำมันค่าขนส่งหักกินไป 20บาท ถ้าเปรียบเทียบกับ “สิงคโปร์” ที่น้ำมันขายปลีก 58 บาท/ลิตร แต่มีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ร้อยละ 8 และ “มาเลเซีย” ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ร้อยละ13ด้วยซ้ำ

เหตุนี้ “ประเทศไทย” จึงไม่อาจจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้แน่นอน ถ้าจะแข่งได้ก็ต้องลดต้นทุนลงทำได้ด้วย“กดค่าแรง หรือลดคุณภาพสินค้า” เพราะไม่สามารลดต้นทุนพลังงานได้

ตอกย้ำยุคน้ำมันแพงนี้มาพร้อมกับ “น้ำมันเถื่อน” ล่าสุดตรวจจับได้ 1.2 ล้านลิตร ที่ จ.สมุทรปราการ ในจำนวนนี้เท่ากับใช้รถบรรทุกสิบล้อ30คัน และอีกแห่งใกล้เกาะสีชัง 4 แสนลิตร เท่ากับรถบรรทุกสิบล้อ 10 คันลักษณะเป็นน้ำมันสีเขียวแสดงว่า “ไม่ใช่น้ำมันเถื่อนนำเข้าจากนอกประเทศ”แต่เป็นน้ำมันส่งออกจากไทย...ตั้งข้อสังเกตว่า “หน่วยงานรับผิดชอบตรง”ที่รู้ข้อมูลการนำเข้า และส่งออกน้ำมันละเอียดที่สุดเสมือนเป็นเจ้าของบ้านกลับ“ไม่รู้มีการลอยลำเรือน้ำมันเถื่อน” แล้วปล่อยให้ตำรวจน้ำที่เป็นหน่วยงานอื่นมาจับถึงหน้าบ้านตัวเอง จึงอยากให้ “ตำรวจสอบสวนจริงจัง” ต้องสาวไปให้ถึงเจ้าของเรือว่าไปรับน้ำมันจากคลังใด

อย่าจบแค่ยึดน้ำมันขายทอดตลาดเอาเงินเข้ารัฐเท่านั้น ค้าน้ำมันเถื่อนใหญ่ขนาดนี้ต้องเป็นผู้มีอำนาจอิทธิพล คนหลายฝ่ายเกี่ยวพัน อันเป็นการเจาะกระเป๋าเงินภาษีที่เป็นงบประมาณแผ่นดินมหาศาลไป

เร็วๆนี้จะมีแคมเปญเชิงสัญลักษณ์ “ติดริบบิ้นส่งสัญญาณถึงรัฐบาล”...ประชาชนไม่เห็นด้วยกับราคาน้ำมันแพงเกินไปในช่วง “คนไทย” กำลังเผชิญความยากลำบากจากโรคระบาดอยู่ตอนนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ