นับถอยหลังแล้วสำหรับการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่าง 2 ผู้ท้าชิง คือ โดนัลด์ ทรัมป์ และ กมลา แฮร์ริส กับโอกาสก้าวขึ้นมาในบทบาทผู้นำของโลก โดยในมุมด้านการลงทุนการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็น “จุดตัดเศรษฐกิจโลก” ครั้งหนึ่ง เพราะเกิดขึ้นระหว่างที่เกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ในขณะเดียวกัน โลกกำลังเผชิญกับภาวะความท้าทายอย่างหนักหน่วงในด้านเศราษฐกิจ โดยในมุมของ ธนาคารกสิกรไทย มองว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดความผันผวนทั่วโลก และมีโอกาสที่เงินจะไหลเข้าเอเชีย ในขณะที่กองทุนระดับโลกอย่าง Lombard มองว่า หากทรัมป์ชนะ อาจเกิดการกลับหลังหัน ของนโยบายด้านเศรษฐกิจ
ศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่และการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายจากรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ กมลา แฮร์ริส จะชนะ หรือพรรคใดจะครองเสียงข้างมากในรัฐบาล ย่อมจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง รวมถึงทั่วโลก และจากผลสำรวจของหลายๆ สำนักพบว่า เมื่อวันเลือกตั้งใกล้เข้ามาปัจจัยสำคัญที่มีผลในการตัดสินใจเลือกของชาวอเมริกันคือเรื่องเศรษฐกิจ ที่ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะทะยอยฟื้นตัว หุ้นสหรัฐฯ เองก็มีผลงานที่ดี แต่ผลกระทบจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงได้ทำลายความเชื่อมั่นของคนอเมริกันไปมาก จึงทำให้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดนับแต่การสำรวจหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551
จอห์น วู้ด Chief Investment Officer and Head of Investment Solutions Asia Lombard Odier Group กล่าวว่า มีโอกาสสูงถึง 35% ที่ โดนัลด์ ทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีและพรรครีพับริกันจะได้ครองเสียงข้างมาก ทั้ง 2 สภา ส่งผลให้นโยบาย “American First” จะถูกนำกลับมาเป็นนโยบายหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เช่น ในด้านการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องภาษีนำเข้า และความเข้มงวดเรื่องนโยบายคนต่างชาติเข้าเมือง ซึ่งโดยรวมอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือทิศทางการลดดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐฯ หรือ Fed ซึ่งอาจจะชะลอลง ในทางกลับกัน ก็มีโอกาสถึง 30% ที่กมลา แฮร์ริส จะชนะการเลือกตั้ง แต่คาดว่าพรรคเดโมแครตจะไม่ได้ครองเสียงข้างมากทั้งสภาบน และสภาล่าง โดยนโยบายส่วนใหญ่จะต่อเนื่องจากปัจจุบันตามนโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ทั้งด้านพลังงาน แรงงานต่างชาติ และการต่างประเทศ โดยภายใต้การนำของกมลา แฮร์ริส คาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงชะลอตัวแบบ Soft landing เงินเฟ้อทยอยลดลงสู่เป้าหมาย และการลดดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นไปตามแผน
แคร์รี่ เคร็ก Executive Director and Global Market Strategist J.P. Morgan Asset Management กล่าวว่า สำหรับผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้สมัครจากรีพับริกันหรือเดโมแครตจะชนะการเลือกตั้งและได้เป็นผู้นำคนใหม่ แต่ทั้ง 2 พรรคจะไม่ได้ครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ทำให้เกิดสภาแบบผสม มองว่าการที่ใครจะได้เป็นประธานธิบดีก็สำคัญในระดับหนึ่ง แต่คะแนนเสียงของสภาก็มีความสำคัญในการผ่านกฎหมายเช่นกัน นอกจากนี้ยังมองว่านโยบายที่หาเสียงไว้ อาจจะไม่สามารถนำมาเป็นนโยบายได้จริง หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ทำให้การคาดเดาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าทำได้ยากลำบาก
สำหรับผลกระทบต่อสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ กมลา แฮร์ริส เป็นฝ่ายชนะ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็น่าจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าจะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเป็นผู้ชนะและผู้แพ้ภายใต้ผู้นำและนโยบายใหม่ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การจัดพอร์ตการลงทุนควรจะให้ความสำคัญกับความสมดุล (Being Balance) โดยการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในหลายๆ สินทรัพย์ผ่านกองทุนผสม (Balanced Fund) เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับพอร์ตโดยรวม ซึ่งในด้านของสัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ นักลงทุนต้องถามตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และรอดูสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนต่อไป