ตั้งกองทุนค้ำเครดิตเอสเอ็มอี ฟื้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน

Investment

Fund

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตั้งกองทุนค้ำเครดิตเอสเอ็มอี ฟื้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน

Date Time: 28 พ.ค. 2567 05:35 น.

Latest

วัยรุ่น “สร้างตัว”ยุคใหม่ ลงทุนอย่างไรดี ? เปิดสูตรแบ่งเงิน 4 พอร์ต ดอกเบี้ยทบต้น ตัวช่วยเพิ่มพลัง

ผมเขียนไปวันศุกร์ที่แล้ว การพบกันระหว่าง คุณพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีคลัง กับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้ว่าแบงก์ชาติได้เสนอกลไกการฟื้นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ คือ การค้ำประกันเครดิตโดยภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกการค้ำประกันสินเชื่อแบบใหม่ มีความยืดหยุ่นกว่าการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ในปัจจุบัน และ การทำ Open Data หรือ ข้อมูลแบบเปิด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคได้มากขึ้น และนำไปใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อได้

การประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก เมื่อวานนี้ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เป็น หัวหน้าทีม ครม.เศรษฐกิจ ผมคาดว่า รัฐมนตรีคลัง และ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่เข้าร่วมประชุมด้วย อาจจะมีการเสนอกลไกนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีและกลุ่มเปราะบาง

วันนี้ผมจะนำเรื่อง “การค้ำประกันเครดิตโดยภาครัฐ” มาเล่าสู่กันฟัง ผมเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลควรทำโดยเร่งด่วนที่สุด กลไกนี้มีการใช้ทั่วโลกอย่างแพร่หลาย เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ ประเทศไทยกำลังมีปัญหานี้ในขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มูลค่าทางเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีไทยวันนี้อยู่ที่ 35% ของจีดีพี ราว 6.3 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานเกือบ 13 ล้านคน หรือ 71% ของการจ้างงานทั้งหมด แต่ปัจจุบันกลับเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก เพราะมีปัญหาหนี้สิน ข้อมูลแบงก์ชาติระบุว่า มีเอสเอ็มอีกว่า 55% หรือราว 1.7 ล้านราย ที่ยังไม่ได้สินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ หมายความว่า ต้องกู้เงินจากนอกระบบ

เอสเอ็มอี 1.7 ล้านราย ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่มากเพื่อชดเชยความเสี่ยงและความเสียหายจากโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ เพราะเอสเอ็มอีทั่วไปมักไม่มีข้อมูลหรือสินทรัพย์ที่จะนำไปวางเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงิน

ข้อเสนอของ แบงก์ชาติ ก็คือ การมีระบบค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น และคิดดอกเบี้ยต่ำลง เพราะได้รับการชดเชยบางส่วนจากการค้ำประกันโดยภาครัฐ ทำให้มีต้นทุนและ credit cost ลดลงในการประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้และการปล่อยสินเชื่อ นอกจากนี้ ระบบค้ำประกันเครดิต ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย ในการผลักดันยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ เช่น ส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ การปรับตัวเข้าสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ระบบค้ำประกันเครดิต ในเอเชียที่ประสบความสำเร็จก็มีเช่น Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) ของเกาหลีใต้ SMEG ของไต้หวัน CGC ของมาเลเซีย

“การค้ำประกันเครดิตโดยภาครัฐ” จะครอบคลุมธุรกิจทุกขนาด และผลิตภัณฑ์การกู้ยืมในรูปแบบต่างๆ เช่น สินเชื่อ ตราสารหนี้ และสามารถค้ำประกันบางส่วนได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ และลดความเสียหายจากการผิดนัดชำระหนี้ หน่วยงานค้ำประกันเครดิตจะมี “กลไกประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของตนเอง” เพื่อให้สามารถค้ำประกันสินเชื่อโดยตรงได้ และ “มีโครงสร้างองค์กรที่เป็นนิติบุคคล” เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

แปลความง่ายๆก็คือ จัดตั้งเป็น “กองทุนค้ำประกันสินเชื่อโดยภาครัฐ” นั่นเอง

ถ้า“กองทุนค้ำประกันเครดิตโดยภาครัฐ” เกิดขึ้นได้เร็ว เอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย จะเข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้ทันที ปลุกเอสเอ็มอีฟื้นจากโคม่า เกิดการจ้างงานทั่วประเทศ เกิดการใช้จ่ายทั่วประเทศ ผมคิดง่ายๆ ถ้าเอาเงิน 5 แสนล้านบาทที่จะแจกฟรี จัดตั้งเป็น “กองทุนค้ำประกันเครดิตโดยภาครัฐ” จะได้กองทุนขนาดมหึมาที่ช่วยฟื้นธุรกิจได้ทั้งประเทศเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่เอสเอ็มอี คุ้มกว่าเอาไปแจกฟรีแค่ 6 เดือนแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ