ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ รวมทั้งอาชีพอิสระ และค้าขายออนไลน์ ต่างได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีความหลากหลาย
1 ในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อาชีพอิสระ ได้รับความนิยม ยังมาจากรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้คนทำงานสามารถจัดการและวางแผนเวลาตัวเองได้ตามความต้องการและเลือกรับงานได้ตามความสะดวก
แต่ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่า “ชาวฟรีแลนซ์” ที่มาพร้อมกับ รายได้ไม่แน่นอน และสม่ำเสมอ เฉกเช่นเมื่อเป็นพนักงานประจำ เรื่องการวางแผนทางการเงิน ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น รวมไปถึงการออมและการลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่ประจำ ทั้งการออมในระยะยาวดอกเบี้ยสูง การออมเพื่อลดหย่อนภาษี หรือการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ ด้วย
ข้อมูลน่าสนใจ จาก ทรูมันนี่ เผยว่า จากรายงานติดตามภาวะเงินฝากและการออมเงินล่าสุด โดย ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน พบว่า ไม่เพียงแต่ลูกจ้างรายวันที่มีการออมเงินเพื่อวางแผนในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น แต่ฟรีแลนซ์และผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระก็มีการออมระยะสั้นในอัตราส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ เช่นกัน
สำหรับเทคนิคการวางแผนทางการเงิน ที่จะทำให้กลุ่มฟรีแลนซ์ และ อาชีพอิสระ มีทั้งเงินเก็บ และสามารถช่วยลดหย่อนภาษี จากการลงทุนได้ มีแนวทางที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง เพื่อการใช้จ่ายและออมในเวลาเดียวกัน
หนึ่งในรูปแบบบัญชีเงินฝากที่เหมาะกับคนที่มีรายได้ไม่ตายตัวในแต่ละเดือน คือ ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่มีความยืดหยุ่นในด้านสภาพคล่องให้ผู้ฝากสามารถถอนและใช้จ่ายเงินได้ตามความต้องการแบบไม่มีข้อจำกัดหรือข้อผูกมัดในเรื่องระยะเวลาการฝากหรือคงเงินไว้ในบัญชี
ขณะเดียวกันก็ได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของบัญชีประเภทนี้อยู่ที่ราว 2-4% โดยคำนวณอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินในบัญชีแบบรายวัน โดยจะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากปีละ 2 ครั้ง ในช่วงครึ่งปีและสิ้นปี ซึ่งการออมผ่านบัญชีเงินฝากถือเป็นหนึ่งในการออมในรูปแบบระยะสั้น ที่ถึงจะให้ผลตอบแทนอาจจะไม่สูงกว่าการลงทุนประเภทอื่น แต่ก็มีความเสี่ยงน้อยกว่าและความคล่องตัวมากสุด และหากเลือกดีๆ ก็อาจจะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่คิด
2. การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี
หนึ่งในภาระทางการเงินสำคัญที่ชาวฟรีแลนซ์ต้องคำนึงถึง คือ ภาระทางภาษี เนื่องจากเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นได้หากไม่ได้วางแผนล่วงหน้า และถ้าปีไหนมีงานเข้ามามากกว่าที่เคยคาดไว้ แต่ถึงจะประกอบอาชีพอิสระ ก็สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อช่วยในการลดหย่อนภาษีและเพิ่มความมั่นคงทางการเงินได้
โดยผลิตภัณฑ์ด้านการลดหย่อนภาษีที่เป็นที่นิยมและสามารถลงทุนผ่านแอปฯ ได้อย่างสะดวกแล้วในสมัยนี้ จะประกอบไปด้วย SSF (Super Saving Funds หรือกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว) ที่มีระยะถือครองขั้นต่ำ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อกองทุน และ RMF (Retirement Mutual Fund หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ)
ซึ่งมีเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี การลงทุนในกองทุนทั้ง 2 รูปแบบจะช่วยตอบโจทย์ทั้งการลดหย่อนภาษีของผู้มีเงินได้ และยังสร้างผลตอบแทนเพื่อตอบโจทย์การลงทุนในระยะยาวได้
ซึ่งชาวฟรีแลนซ์และลูกจ้างรายวันที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีจะต้องวางแผนในการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี โดยคำนึงถึงรายได้และรายจ่ายประจำของตนเองให้สมดุลกัน เพราะการลงทุนในรูปแบบนี้จะเป็นการลงทุนในระยะยาวที่ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินก้อนไปลงทุนตามระยะที่กำหนดและอาจจะมีสภาพคล่องต่ำ เพราะหากไม่ลงทุนประจำตามเงื่อนไขหรือทำการขายคืนเพื่อเอาเงินออกมาก่อนครบระยะตามกำหนดของแต่ละกองทุนก็จะเสียประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้และอาจเจอค่าธรรมเนียมที่ทำให้คิดแล้วไม่คุ้ม
3. การออมเพื่อการเกษียณกับกองทุนการออมแห่งชาติ
อีกหนึ่งรูปแบบการออมที่กลุ่มฟรีแลนซ์และลูกจ้างรายวันควรให้ความสำคัญ คือ การการออมในระยะยาวเพื่อการเกษียณ ซึ่งได้เพิ่มการเข้าถึงการออมให้แก่คนไทยอายุ 15-60 ปี ซึ่งเป็นผู้ประกันตน ม.40 ทางเลือก 1 ที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการบำเหน็จบำนาญของรัฐ และไม่ได้เป็นผู้มีรายได้ประจำ ในการออมเงินกับ กอช. แค่ออมขั้นต่ำ 50 บาทต่อครั้ง และมียอดเงินฝากรวมรายปีไม่เกิน 30,000 บาท
โดยสิทธิประโยชน์ของการออมกับ กอช. จะประกอบไปด้วยการรับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐในเดือนถัดไปสูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 30,000 บาทต่อปี รับเงินบำนาญตลอดชีพหลังเกษียณอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงสุด 12,000 บาทต่อเดือน และการันตีผลตอบแทนการลงทุน ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่