ในสถานการณ์ที่ความไม่แน่นอนยังคงปกคลุมสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก (ซึ่งอันที่จริงก็ไม่เคยมีช่วงไหนที่สถานการณ์แน่นอนสักครั้ง) สิ่งที่นักลงทุนอย่างเราจะเลือกทำก็คือ ดูสถานการณ์และระมัดระวังในการใส่เม็ดเงินแต่ละครั้ง กับอีกแบบก็คือยังคงลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (Stay Invest) แต่เน้นกระจายการลงทุนให้มากขึ้นแนว Asset Allocation และโฟกัสการกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification) แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า การกระจายการลงทุนแบบ “มากเกินพอดี” กลับเป็นสัญญาณอันตรายในอนาคตดังต่อไปนี้
ความเสี่ยงในการติดตามที่ไม่ทั่วถึง เช่น นักลงทุนบางท่านถือหุ้นเป็นร้อยตัว ถือกองทุน 40-50 รวมกอง ไม่รวมกองทุนลดหย่อนภาษี ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ไส้ในหรือนโนบายการลงทุนในกองทุนแต่ละกอง เค้าอาจจะไปถือหุ้นตัวเดียวกันกับกองอื่นๆ ที่เราก็มีเช่นกัน หรืออาจจะเป็นรายตัว ตัวเดียวกับที่เรามีถืออยู่ก่อนหน้านั้นแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ตลาดปรับตัวลงแรง กว่าที่เราจะวิเคราะห์ได้ว่ามันส่งผลกระทบต่อหุ้นตัวไหน ต่อกองทุนไหน เราอาจจะ Action ช้าเกินไปก็ได้ เพราะเราถือของในมือเยอะ และซ้ำกันมากเกินไป
(ภาพตัวอย่างประกอบ)
ผลตอบแทนที่คาดหวังอาจจะได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ เช่น เราซื้อกองทุนไทย 3 กอง กองทุนสหรัฐฯ 5 กอง กองทุนจีน 7 กอง และมีเวียดนาม ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้โลก ทองคำ ฯลฯ รวมๆ แล้วอาจจะมีสัก 40-50 กองทุน ลองจินตนาการว่า ในช่วงที่หุ้นจีนขึ้นแรงๆ สัก 30% แต่เรากลับถือเพียงแค่ 1% ของพอร์ต นั่นจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของเราขยับน้อยมากๆในแต่ละช่วงเวลา เพราะฉะนั้นอยากจะแนะนำว่าจัดพอร์ตง่ายๆ แบบ Core & Satellite Portfolio คือโฟกัสน้ำหนักไปที่ Core Port ตามมุมมองและความเชี่ยวชาญในสินทรัพย์ของแต่ละคน ส่วนอื่นๆ ก็ถือเป็นส่วนปลีกย่อย ที่เอาไว้หา Alpha Port หรือบางคนเอาไว้เก็งกำไรก็พอที่จะทำได้
หรือในกรณีที่เราจะเลือกกองทุนสักหนึ่งกองเพื่อลงทุน ก็ต้องไม่ลืมศึกษาอย่างละเอียดที่สุดว่า นโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร ลงทุนในประเทศใด ถือหุ้นอะไรบ้าง หุ้นกลุ่มไหน มีอนาคตรึเปล่า ค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร เพื่อให้การตัดสินใจเข้าลงทุนของเรา มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้จากข้อมูลปัจจุบันที่มี
(ภาพตัวอย่างบางส่วนของรายละเอียดกองทุน KF-CHINA จากโปรแกรม iFund หลักทรัพย์กรุงศรี)
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney