ย้อนนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” ขย้ำโลก

Experts pool

Columnist

Tag

ย้อนนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” ขย้ำโลก

Date Time: 22 พ.ย. 2567 19:29 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเขย่าเศรษฐกิจโลกและหลายประเทศคู่ค้าจับตามาตรการ "ขย้ำโลก" ที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า จึงชวนย้อนไปดูมาตรการในยุครัฐบาลทรัมป์รอบก่อน ระหว่างปี 2560-2563 ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และหลังจากนี้จะมีอะไรที่ต้องติดตามใกล้ชิด

Latest


ในการแถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุด ได้คาดการณ์ว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.3 – 3.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% นับว่าต่ำกว่าประเทศในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ที่คาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจจะขยายตัว 5% มาเลเซีย 4.4% ฟิลิปปินส์ 6.1% และเวียดนาม 5.8%

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยในปี 2568 ที่สภาพัฒน์มองว่ามีความไม่แน่นอนอย่างสูง คือ การตั้งรับแนวนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการรวบรวมมาตรการที่สำคัญของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงการดำรงตำแหน่งสมัยแรกช่วงปี 2560 – 2563 มากางดูกันว่าแต่ละนโยบายที่แสดงฤทธิ์เดชต่อเศรษฐกิจโลก สถานะปัจจุบันเป็นอย่างไร

ไล่เรียงจากปี 2560 ได้แก่

  1. กฎหมายการสร้างกำแพงเขตดินแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ปัจจุบันถูกยกเลิกแต่เปลี่ยนนโยบายมุ่งเน้นจัดการการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
  2. การห้ามการเดินทางเข้าประเทศของประชาชนจากประเทศมุสลิมบางประเทศ ถูกยกเลิกไปแล้ว
  3. การส่งเสริมนโยบาย Buy American, Hire American และลดการให้วีซ่าทำงาน H-1B แก่ชาวต่างชาติ ขณะนี้นโยบายการจ้างงานคนอเมริกันยังได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง แต่ลดจำนวนการปฏิเสธวีซ่า
  4. เริ่มทำการสืบสวนภายใต้มาตรา 301 ของพ.ร.บ.การค้าในกิจกรรมการค้าของจีน ยังบังคับใช้และมีการประกาศคำสั่งใหม่เพิ่มเติม
  5. การลดข้อกำหนดบางประการของ ACA (Obamacare) เช่น ชะลอการบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นภาระทางการเงินต่อรัฐบริษัทหรือบุคคล ได้ถูกยกเลิกและประกาศคำสั่งใหม่
  6. การยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหินและน้ำมัน ถูกยกเลิกและประกาศคำสั่งใหม่
  7. ป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยการยกระดับระบบสารสนเทศของรัฐ ยังบังคับใช้

ขณะที่ในปี 2561 มีข้อกฎหมายสำคัญ คือ

  1. การลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่รับเข้าประเทศต่อปี ถูกยกเลิกและประกาศคำสั่งใหม่
  2. การเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมภายใต้มาตรา 232 ของพ.ร.บ.การขยายการค้าซึ่งให้อำนาจพิจารณาผลกระทบของการนำเข้าสินค้าต่อความมั่นคงของชาติ ยังบังคับใช้ แต่มีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดรายละเอียด
  3. การกำหนดวินัยและความรับผิดชอบในการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ถูกยกเลิกและประกาศคำสั่งใหม่

ต่อมาในปี 2562 มีข้อกฎหมาย คือ

  1. การเพิ่มการมีส่วนร่วมของรัฐและท้องถิ่นในการตั้งถิ่นฐานผู้ลี้ภัย ถูกยกเลิกประกาศคำสั่งใหม่
  2. การรักษาความปลอดภัยห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภายใต้พ.ร.บ.อำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ เช่น ห้ามการเข้าถึงของ Huawei, TikTok และ WeChat ปัจจุบันยังบังคับใช้แต่มีการประกาศคำสั่งใหม่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนข้อกำหนดและรายละเอียด
  3. การลดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ถูกยกเลิกและประกาศคำสั่งใหม่

ส่วนในปี 2563 มีข้อกฎหมาย คือ

  1. การเพิกถอนสถานะพิเศษของฮ่องกงภายใต้กฎหมายใหม่ของจีน ปัจจุบันยังบังคับใช้
  2. ห้ามการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพจีน ยังบังคับใช้ แต่มีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดและรายละเอียด
  3. เป็นเรื่องของการเจรจาการค้าข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (US-Mexico-Canada Agreement: USMCA) ซึ่งเข้ามาแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) โดยมีความเข้มข้นมากขึ้นในด้านแรงงานแหล่งกำเนิด ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าดิจิทัลและสินค้าเกษตร ปัจจุบันยังบังคับใช้

ส่วนข้อเสนอแนวนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในสมัยที่ 2 เมื่อรวบรวมจากคำแถลงในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ประเด็นที่ดูแล้วน่ากังวลมากที่สุด คือ การเมืองระหว่างประเทศ ที่คาดว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองโลกจะรุนแรงมากขึ้น จากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และส่งผลกระทบต่ออุปทานพลังงาน

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ จะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าทุกประเภทโดยสินค้าจากจีนอาจมีการเก็บภาษีตรา 60% และ 10 - 20% สำหรับประเทศอื่นๆ และการยกเลิกหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งที่ให้กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน และสหรัฐฯ จะถอนตัวจากกรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)

มาตรการนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ราคาสินค้านำเข้าปรับเพิ่มสูงขึ้นและสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ จนอาจส่งผลต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ชะลอกว่าที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจและปริมาณการค้าของโลกชะลอตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศที่ถูกปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ตลาดเงินตลาดทุนมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น และประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้า จะส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมากขึ้น

นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะมีการบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลเป็นการถาวรหลังจากที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 และมีกำหนดสิ้นสุดในปี 2568 ซึ่งจะกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐฯ ให้ขยายตัวดีขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐในด้านต้นทุนภาษีสำหรับผู้ประกอบการ และจะมีมาตรการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 20 ถึง 21% เป็น 15% สำหรับประเทศที่มีการผลิตภายในประเทศ แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้สูงและอาจส่งผลให้การกระจายรายได้ในสหรัฐฯ แย่ลง แต่จะดึงดูดเงินลงทุนระหว่างประเทศให้เข้าสู่ตลาดทุนสหรัฐเนื่องจากคาดว่าผลประกอบการตลาดสหรัฐจะขยายตัวได้ดี

ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไป เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” กลับมาเขย่าโลกอีกครั้ง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ