ยินดีต้อนรับสู่ยุคใหม่

Experts pool

Columnist

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

Tag

ยินดีต้อนรับสู่ยุคใหม่

Date Time: 28 ก.ย. 2567 07:42 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 และปี 2025 เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วง Late Cycle โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเริ่มชะลอลง ขณะที่ Fed เริ่มลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ธนาคารกลางอื่น ๆ ลดดอกเบี้ยตาม ส่วนเศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินการคลัง เช่น โครงการ Digital Wallet แม้การส่งออกอาจเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง เราคาดว่าตลาดการเงินจะผันผวน แต่การลดดอกเบี้ยและเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า จะช่วยหนุนการลงทุนในตลาดเกิดใหม่และไทย หุ้นเด่นคือ BDMS CPALL HANA และ LHHOTEL

Latest


เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 เรามีมุมมองต่อภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องปี 2025 ใน 3 ประเด็นหลัก กล่าวคือ

(1) เศรษฐกิจเปลี่ยนยุค  โดยในไตรมาส 3 เราเห็นภาพที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized recovery) ซึ่งในไตรมาส 4 ภาพดังกล่าวยังอยู่ แต่เราเริ่มเห็นทิศทางเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเริ่มชะลอลง โดยเฉพาะภาคการผลิต (หรือที่เรียกว่าช่วงท้ายวัฐจักรหรือ Late cycle) โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากดัชนีชี้นำโดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่เห็นการชะลอลงชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเอเชียโดยเฉพาะภาคการผลิตใน 3-6 เดือนข้างหน้า เริ่มชะลอลง


(2) ดอกเบี้ยเปลี่ยนยุค โดยปัจจุบัน ธนาคารกลางชั้นนำเริ่มลดดอกเบี้ยชัดเจนขึ้น โดยในปัจจุบัน ธ. กลางสำคัญของโลก เช่น ยุโรป อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ และสวีเดน ลดดอกเบี้ยแล้ว และในวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ก็เริ่มลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังช่วง Covid-19 ซึ่งเราเชื่อว่า กระแสการลดดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ธนาคารกลางอื่น ๆ เริ่มลดดอกเบี้ยได้ โดยเราเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ย 0.75% (percentage point: p.p.) ปีนี้ และอาจลด 1.50% ปีหน้า และ


(3) การเมืองเปลี่ยนยุค โดยเฉพาะการเมืองในสหรัฐ ที่ในปัจจุบัน รองประธานาธิบดีแฮริสมีคะแนนนำอดีตประธานาธิบดีทรัมพ์ ที่ 49.1% ต่อ 47.3% ทั้งนี้ ทั้งสองมีแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ต่างกัน โดยทรัมป์มีนโยบายลดภาษีนิติบุคคล ลดกฎระเบียบต่อต้านผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำสงครามการค้า และสนับสนุนพลังงานฟอลซิล ขณะที่คาเมลามีแนวนโยบายสร้างที่อยู่อาศัย คุมราคาอาหารและของชำ คุมค่ารักษาพยาบาล ลดภาษีคนจน แต่ขึ้นภาษีคนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้เอกชนชอบนโยบายทรัมป์มากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่สภาคองเกรสจะมีการเลือกตั้งเช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ขณะที่ผลโพลเบื้องต้นบ่งชี้ว่าเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีพรรคใดได้ครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (หรือที่เรียกว่า "สภาแตก" หรือ divided government) ทำให้โอกาสที่ประธานาธิบดีท่านใหม่จะสามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้อย่างเต็มที่ 100% เป็นไปได้ยาก  


ในฝั่งของผลกระทบของนโยบายการเงินโลก สู่สินทรัพย์ทางการเงินนั้น เราเชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ชะลอลงทำให้ Fed ปรับเปลี่ยนกลยุทธในการลดดอกเบี้ย  จากการลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Gradual approach) เป็นการลดอย่างรวดเร็วในช่วงต้นวัฐจักร (Front-loading) เพื่อหยุดการชะลอตัวของตลาดแรงงาน  โดยอาจลดดอกเบี้ย 0.75% (Percentage point) ในปีนี้ และ 1.50% ในปีหน้า โดยเป็นการลดทุกการประชุมจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2025 ก่อนลดระดับการลดดอกเบี้ยลง และเราเชื่อว่า กระแสการลดดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ธนาคารกลางอื่น ๆ เริ่มลดดอกเบี้ยได้


ในส่วนของผลตอบแทนพันธบัตร เรามองว่า เส้นผลตอบแทนที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ (Normal Yield Curve หรือการที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่ระดับต่ำกว่าระยะยาว) จากภาวะกลับทิศ (Inverted Yield Curve หรือผลตอบแทนระยะยาวอยู่ต่ำกว่าระยะสั้น) เป็นผลจากการที่ตลาดเชื่อว่า Fed จะลดดอกเบี้ยเร็ว ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเงินเฟ้อต่ำ และความชันของเส้นผลตอบแทนจะมากขึ้นเรื่อย ๆ (บ่งชี้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรจะลงเร็วและแรงขึ้น) ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า Bull Steepening หรือการที่ผลตอบแทนระยะสั้นลงเร็วกว่าระยะยาว ซึ่งสถานการณ์นี้อาจไม่เป็นบวกต่อทิศทางการลงทุนมากนัก


ขณะที่ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนเรามองว่า (1) การที่ Fed ลดดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่า ธ. กลางอื่น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง ทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (DXY) มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่น ทั้งเยนและยูโร รวมถึงค่าเงินบาท โดยเงินเยนมีแนวโน้มจะแข็งกว่าสกุลอื่น ๆ เนื่องจาก ธ. กลางญี่ปุ่นอาจสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในช่วงปีหน้า ขณะที่เงินยูโรอาจแข็งค่าขึ้นปานกลาง ขณะที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง รวม 0.75% (Percentage point) ในวัฐจักรนี้


ในส่วนมุมมองภาพเศรษฐกิจโลก-ไทย ในปี 2024-25 นั้น เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวดีเกินคาด แต่ Momentum จะชะลอลงในระยะต่อไป (Soft-landing) ต่อเนื่องปี 2025 ขณะที่ยุโรปเริ่มดีขึ้น แต่อัตราเติบโตน้อยกว่าสหรัฐ ด้านจีนจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราปรับลดประมาณการลงจาก 5.0% สู่ 4.8% และปรับประมาณการเศรษฐกิจญี่ปุ่นลงจาก 1.9% สู่ 0.0% จากครึ่งปีแรกที่แย่กว่าคาด ส่วนเศรษฐกิจไทย เราปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยใน 4Q2024 จาก 2.9% เป็น 3.5% จากมาตรการ Digital Wallet ระยะที่ 1 ที่จะช่วยให้การบริโภคดีขึ้น แต่ยังคงประมาณการทั้งปี 2024 ที่ 2.5% ส่วนในปี 2025 เรามองว่า เศรษฐกิจสหรัฐและจีนจะชะลอลง ยุโรป ญี่ปุ่น และไทยดีขึ้น


ในส่วนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลก เรามองว่าต้องพิจารณาควบคู่ ระหว่างผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งรัฐสภา โดยเราวิเคราะห์เป็น 4 สถานการณ์ โดย(1) สถานการณ์ที่เป็นไปได้มากสุด คือ รองประธานาธิบดีคาเมลาจะได้เป็น ประธานาธิบดีแต่สภาแตก (หรือการที่พรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาเป็นพรรคที่แตกต่างจากประธานาธิบดี (โอกาส 45%) ซึ่งผลส่วนใหญ่จะเป็นคล้ายปัจจุบัน ยกเว้นสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเสี่ยงมากขึ้น (2) สถานการณ์ที่เป็นไปได้รองลงมา ได้แก่ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้บ แต่สภาแตก (โอกาส 35%) จะทำให้เสี่ยงขึ้นด้านเศรษฐกิจ (สงครามการค้า) แต่ความมั่นคงอาจดีขึ้น ขณะทีสถานการณ์ที่ 3 และ 4 โอกาสเท่ากัน (10% ต่อสถานการณ์) แต่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยกรณีคาเมลาชนะ และพรรคเดโมแครตชนะทั้งสองสภา อาจจะดีด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ผันผวน แต่ความมั่นคงระหว่างประเทศอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าทรัมป์ชนะเลือกตั้ง และพรรครีพับบลิกกันชนะทั้งสองสภา สถานการณ์จะเสี่ยงสุด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศ


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครมาเป็น ประธานาธิบดี ความเสี่ยงสงครามเย็นกับจีน (China derisking) จะยังอยู่ ทำให้จีนเปลี่ยนกลยุทธ์ หันมาเน้นการสนับสนุนภาคการผลิตและส่งออก แต่ไม่สนับสนุนภาคอสังหาฯ รวมถึงภาคการบริโภค ทำให้เศรษฐกิจจีนเสี่ยงชะลอลง และความเสี่ยงสงครามการค้ามีมากขึ้น


ในส่วนของทิศทางเศรษฐกิจไทย และผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น เรามองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกชะลอลงมากจากเศรษฐกิจในประเทศ ผลจากนโยบายการเงิน-คลังตึงตัว อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ทำให้ปลดล๊อคโครงการ Digital Wallet  จากเดิมที่จะทำโครงการวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท ผ่านการใช้งบปี 2567 และ2568 ที่เสี่ยงต่อการผิด พรบ. งบประมาณ มาเป็นการแจกเงิน 1.45 แสนล้านบาทก่อนสิ้นเดือน ก.ย. ทำให้เศรษฐกิจที่มี Momentum ชะลอลงในไตรมาสที่ 2-3 กลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4


เรามองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2024-25 จะได้ปัจจัยบวกจากมาตรการการเงินการคลัง แต่ส่งออกเสี่ยงชะลอตามเศรษฐกิจสหรัฐและจีนที่ชะลอลง โดยเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2024 ต่อเนื่อง 2025 อาจเริ่มขยายตัวได้จากนโยบายการเงินการคลังเอื้อหนุน โดยในส่วนนโยบายการคลัง เรามองว่างบลงทุนจะขยายตัวได้ 10.6% จากปีนี้ ขณะที่ ธปท. มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยได้ 0.75% (percentage point) จากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลง รวมถึงผลจากดอกเบี้ยสหรัฐที่จะลดลง 2.25% (percentage point) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงจากปัจจุบัน ขณะที่ภาคการผลิตโลกล่าสุดเริ่มเข้าสู่ Late-Cycle อาจทำให้การส่งออกไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้าชะลอลง และกระทบเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป


ในส่วนกลยุทธการลงทุน เรามองว่าตลาดจะมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 โดยได้ผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลง ซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดใหม่เติบโตดีเมื่อเทียบกับตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนั้น เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่และไทย ขณะที่นโยบายรัฐบาลใหม่ ทั้ง Digital Wallet กองทุนวายุภักษ์ และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 จะช่วยเอื้อต่อการลงทุนได้ระดับหนึ่ง แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่มากขึ้นจะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยในระดับหนึ่ง เรามองว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศเป็นหลัก ที่ได้รับปัจจัยบวกจากแรงสนับสนุนด้านนโยบาย และมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง จะสามารถลดผลกระทบจากความผันผวนภายนอกและค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าได้ เราแนะนำ BDMS CPALL HANA และ LHHOTEL เป็นหุ้นเด่นในไตรมาสนี้ โดยมีเป้าสำหรับ SET Index ที่ 1,500 จุด ในปี 2024 และ 1,550 จุดในปี 2025 ตามลำดับ


ขอให้นักลงทุนโชคดี